ร่วมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานหลายภาคส่วน ระดมแนวคิดเรื่องธนาคารเวล

 ร่วมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานหลายภาคส่วน ระดมแนวคิดเรื่องธนาคารเวล
วันที่ 17 MAY 2018 | ผู้เข้าชม 3,185 ครั้ง

กรมกิจการผู้สูงอายุร่วมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานหลายภาคส่วน

ระดมแนวคิดเรื่องธนาคารเวลาที่เหมาะสมกับประเทศไทย

เพื่อสร้างคนจิตอาสาอุทิศตนแก่สังคม

 

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2561) เวลา 10.00 น. อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานในการประชุมหารือ ถึงแนวทางการดำเนินงานธนาคารเวลา ครั้งที่ 1/2561 เวลา 10.00 – 12.00 น. ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ อาทิ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม สสส. ธนาคารจิตอาสา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อระดมข้อคิดเห็น รับฟัง และหาแนวทางการในการนำรูปแบบธนาคารเวลามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารดรุณวิถี บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี

สืบเนื่องจากประเทศไทย กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงอายุสูงถึง   ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 28 ถือได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ธนาคารเวลาเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและ     ความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ดำเนินงานเรื่องธนาคารเวลา ได้นำแนวคิดมาจากการดำเนินงานธนาคารเวลาของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเป็นสมาชิกธนาคารเวลา เพื่อเป็นอาสาสมัครในการให้บริการช่วยเหลือหรือดูแลผู้สูงอายุในหลากหลายรูปแบบ เช่น การปรนนิบัติ การให้คำปรึกษา การพูดคุย ฯลฯ ซึ่งอาสาสมัครจะสามารถสะสมเวลาจิตอาสาไว้ที่ธนาคารเวลาในรูปแบบบัญชีส่วนบุคคล และเมื่ออาสาสมัครมีภาวะเจ็บป่วย หรือกลายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลช่วยเหลือ ธนาคารเวลาจะจัดส่งอาสาสมัครไปดูแลตอบแทนภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่อาสาสมัครสะสมเวลาจิตอาสาไว้ ซึ่งการดำเนินงานในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะงานจิตอาสามีระบบอาสาสมัครที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างชัดเจน เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับจิตใจของคนไทยให้มีความเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือสังคมตลอดมา จึงควรที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนอาสาสมัครต่างๆ ในประเทศไทย ให้สามารถเรียนรู้เพื่อประยุกต์เอาบทเรียนต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

 นางธนาภรณ์  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า การดำเนินงานธนาคารเวลาอาจจะดำเนินการ  โดยผ่านกลไกอาสาสมัคร ทั้งนี้ เนื่องจากอาสาสมัครมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาครัฐ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างสังคมอย่างยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการภาครัฐ สร้างสังคมการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชุมชน  โดยผ่านงานอาสาสมัคร สร้างความเชื่อใจ และความร่วมมือกัน ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ซึ่งสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการร่วมกันทำงานเป็นทีมกับอาสาสมัคร ทั้งยังช่วยนำบุคคลที่ถูกแบ่งแยกออกไปจากสังคมให้กลับเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่ม เช่น กลุ่มคนว่างงานได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครเพื่อฝึกทักษะสำหรับงานที่มีรายได้ หรือคนเกษียณอายุได้รู้สึกว่าตัวเองยังมีบทบาทอยู่ในสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสังคมให้ดีขึ้นร่วมกัน การดำเนินงานธนาคารเวลาโดยผ่านกลไกอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ  จึงถือได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่า สร้างคนจิตอาสาอุทิศตนแก่สังคม

คลังภาพ