คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 4/2561

คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 4/2561
วันที่ 27 SEP 2018 | ผู้เข้าชม 4,863 ครั้ง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 4/2561 ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

วันนี้ (27 ก.ย. 61) เวลา 09.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 4/2561 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กผส. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 การประชุม กผส. ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
• รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 โดยจ่ายย้อนหลังของเดือน กรกฎาคม 2561 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
• เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ โดยเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาตรฐานหลักสูตรกลางการดูแลผู้สูงอายุไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ และมาตรฐานผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลที่ได้มาตรฐาน ภายใต้กฎหมาย บทบัญญติที่เกี่ยวข้อง โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
• เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนที่ได้รับการเลือก 5 ลำดับแรก เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กผส. ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อให้การดำเนินงานในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านผู้สูงอายุมีองค์ประกอบครบถ้วนและสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
• ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดกิจกรรมผ่านการมีส่วนร่วม เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย การดูแลตนเอง การฝึกอาชีพ การสร้างรายได้ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และนันทนาการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทางสังคม ทำประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจรู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีในตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุ