รมว.พม. กล่าวปาฐกถาพิเศษ มุ่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "สังคมผู้สูงอายุ" พร้อมดึงภาคีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ

รมว.พม. กล่าวปาฐกถาพิเศษ มุ่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ
วันที่ 17 JAN 2019 | ผู้เข้าชม 2,662 ครั้ง

รมว.พม. กล่าวปาฐกถาพิเศษ มุ่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "สังคมผู้สูงอายุ" พร้อมดึงภาคีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ ห้องประชุมแมจิก ๓ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ: ปัญหาและการจัดการ” โดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางไพรวรรณ พลวัน) รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ) พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าร่วมงานในครั้งนี้
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า ด้วยข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่า ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย ๑ ใน ๔ ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ บางครั้งผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูกหลานไม่เข้าใจ ไม่มีเวลาให้ และไม่เป็นคนสำคัญในครอบครัว อันดับที่ ๒ คือ การทอดทิ้ง ไม่ดูแล อีกทั้งข้อมูลสถิติจากกระทรวง พม. โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน ๑๓๐๐ พบว่า จากเดิมที่มีการแจ้งข้อมูลปัญหาผู้สูงอายุพลัดหลง สูญหาย และเร่ร่อนเป็นอันดับ ๑ ในขณะที่ปัจจุบัน พบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแลในระยะ ๓ ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า รวมทั้งปัญหาลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ อีกทั้งสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด และอันดับ ๓ คือ การเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน โดยคนในครอบครัวเอาทรัพย์สินไป 
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาทางสังคมดังกล่าวที่เกิดขึ้น กับผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สังคมสูงอายุ” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ สำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง โดยกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายจากการถูกกระทำความรุนแรง ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการถูกทอดทิ้ง รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาครอบครัว และการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติสถานการณ์ปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ กระทรวง พม. พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐเอกชน และประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในระยะยาวต่อไป

 

คลังภาพ