รมว.พม. ดึงภาคีเครือข่ายเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ๒๐ ปี

รมว.พม. ดึงภาคีเครือข่ายเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ๒๐ ปี
วันที่ 19 AUG 2019 | ผู้เข้าชม 2,191 ครั้ง

รมว.พม. ดึงภาคีเครือข่ายเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ๒๐ ปี

 

 วันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕) โดยมี ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายปรเมธี วิมลศิริ) พร้อมด้วย อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางไพรวรรณ พลวัน) รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ (นางศิริลักษณ์ มีมาก) และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ และศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ชมรมผู้สูงอายุ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมงานดังกล่าว

 ภายในงานมีการเสวนาประเด็นเร่งด่วนและทิศทางการขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖)  ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้แก่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการจัดทำและวิพากษ์แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ฉบับที่ ๒ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๕) ทั้งในระดับส่วนกลางและจังหวัด ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการเตรียมระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๕) และทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในประเด็นที่ท้าทายในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๘๐) ตลอดจนการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุของประเทศทั้งในระดับสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี พ.ศ ๒๕๖๔ ต่อไป