ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓

ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓
วันที่ 10 APR 2020 | ผู้เข้าชม 2,056 ครั้ง

         วันศุกร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ประธานกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น ๔ กระทรวงพาณิชย์  ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์) ปลัดกระทรวง พม. (นายปรเมธี วิมลศิริ) อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ (นางศิริลักษณ์ มีมาก) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ

โดยในการประชุมดังกล่าวมีมติที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

 

          ๑.ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน เป็นระยะเวลา ๑ ปี (๑ เมย ๖๓ - ๓๑ มีค ๖๔)

            ๒.เห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน ๔ มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม โดยมอบหมายกรมกิจการผู้สูงอายุ นำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไป โดยสรุปสาระสำคัญของมาตรการฯ ได้ดังนี้

    - มิติเศรษฐกิจ โดยการควรบูรณาการระบบบำนาญและระบบการออมเพื่อยามสูงวัยและการปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และส่งเสริมประชากรวัยทำงานกลุ่มที่เป็นลูกจ้างและไม่ใช่ลูกจ้างในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่การใช้ชีวิตยามสูงวัย อาทิ ส่งเสริมการสมัครสมาชิกและการออมในประชากรกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และให้เด็กสามารถเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้โดยพ่อแม่เป็นผู้ออมแทน

     - มิติสภาพแวดล้อม โดยควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลใช้บังคับให้สอดคล้อง ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     - มิติสุขภาพ โดยการขยายกองทุนระบบการดูแลระยะยาวให้ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐานทุกด้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การกระจายอำนาจให้กับ อปท. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ การบูรณาการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็น Operation Unit การยกระดับผู้ดูแลมืออาชีพ Formal (Paid) Care Giver รวมทั้งการจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทุกอำเภอควบคู่ไปกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care)

     -มิติสังคม โดยการเพิ่มบทบาท อปท. ในการพัฒนาระบบรองรับ สังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ “บววรร” (บ้าน วัด วิสาหกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล)ในการรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน

    ทั้งนี้ ควรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยขับเคลื่อน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ มีดังนี้

    ๑.ด้านเศรษฐกิจ: ควรมีการจัดทำบัญชีนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือ ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ (Assisted Devices)

     ๒.ด้านสภาพแวดล้อม: การออกระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินภารกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสูงอายุ

     ๓.ด้านสุขภาพ: การส่งเสริมให้มีระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

     ๔.ด้านสังคม: การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการทำงาน และทักษะชีวิต