พม. เตรียมความพร้อมคนทุกวัย ร่วมสร้างสังคมไทย สูงวัยอย่างมีพฤฒิพลัง

พม. เตรียมความพร้อมคนทุกวัย ร่วมสร้างสังคมไทย สูงวัยอย่างมีพฤฒิพลัง
วันที่ 10 AUG 2020 | ผู้เข้าชม 1,988 ครั้ง

พม. เตรียมความพร้อมคนทุกวัย ร่วมสร้างสังคมไทย สูงวัยอย่างมีพฤฒิพลัง

พม. เตรียมความพร้อมคนทุกวัย ร่วมสร้างสังคมไทย สูงวัยอย่างมีพฤฒิพลัง ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านผู้สูงอายุ เพื่อการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563 เวลา 11.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เตรียมความพร้อมคนทุกวัย ร่วมสร้างสังคมไทย สูงวัยอย่างมีพฤฒิพลัง พร้อมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ “ก้าวสู่วิถีปรกติใหม่ในสังคมสูงวัย : Step Forward to New Normal Life for Aged Society” ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพี่อเป็นการสร้างความรับรู้ให้กับคนทุกวัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเป็นการแสดงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการบูรณาการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุตามระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมี ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายปรเมธี วิมลศิริ) อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางอภิญญา ชมภูมาศ) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ (นางศิริลักษณ์ มีมาก) ผู้อำนวยการศูนยืพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าร่วมในงานดังกล่าว ณ ห้องราชาบอลรูม ชั้น 11 โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ประกาศให้ประเด็นเรื่อง "สังคมสูงอายุ" เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ พร้อมมอบหมาย 6 กระทรวงร่วมกันขับเคลื่อนงาน ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้มาตรการหลัก การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย (6 Sustainable) ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 สร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ มาตรการที่ 2 ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ของผู้สูงอายุ มาตรการที่ 3 ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ มาตรการที่ 4 ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ มาตรการที่ 5 ธนาคารเวลา สำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย และมาตรการที่ 6 การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมในทุกมิติ และมาตรการหลัก การยกระดับขีดความสามารถ สู่การบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (4 Change) ประกอบด้วย 1) การยกระดับความร่วมมือเสริมพลังสังคมสูงอายุ 2) การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ 3) การปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) การพลิกโฉมนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ การจัดงานวันนี้ เป็นการสร้างความรับรู้ให้กับคนทุกวัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเป็นการแสดงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการบูรณาการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ ตลอดจนเพื่อเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนตามประเด็นระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุในอนาคต เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ และให้ผู้สูงอายุไทยคงความเป็น “พฤฒิพลัง หรือ Active Ageing” ในยุค “New Normal” กิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประเด็นท้าทาย การเตรียมความพร้อมของคนไทย สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” โดย รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง การเสวนาเรื่อง “เตรียมตัวอย่างไรเป็นผู้สูงวัยมีคุณภาพ” การแสดงชุดพิเศษจาก นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2563 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 และนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ประจำปี 2539 และการเสวนาเรื่อง “เตรียมตัวอย่างไรเป็นผู้สูงวัยมีคุณภาพ” และพิธีแสดงเจตนารมณ์ “ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ” จากผู้แทน 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเครือข่าย รวมถึงการนำแสดงผลงานภาพรวมการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ และนิทรรศการให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนกว่า 21 บูธ โดยมี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหุ้นส่วนการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติฯ เข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนกว่า 300 คน