พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรและข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการ “ชูใจ” : หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรและข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการ “ชูใจ” : หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
วันที่ 12 NOV 2020 | ผู้เข้าชม 2,990 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.20 น. นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรและข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการ “ชูใจ” : หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุให้กับผู้ใช้งานจริง ซึ่งได้แก่ บุคลากรของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อันจะนำไปสู่การยกระดับการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนส่งผลให้การดูแลผู้สูงอายุมีความสะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) พร้อมด้วย ผศ.ดร. จำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าโครงการฯ นางสาวอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุม เรนโบว์ ชั้น 17 อาคาร Baiyoke Sky Hotel เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

ในพิธีการอบรมฯ ครั้งนี้ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์  กล่าวว่า ปัญหาในผู้สูงอายุที่ต้องทุกข์ทนและเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ปัญหาด้านภาวะอารมณ์ ไปจนถึงการถูกละเลยจากสังคมและลูกหลาน ส่งผลให้ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรมกิจการผู้สูงอายุได้มีความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพกายใจที่ดีและมีความสุข ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยให้การบริหารจัดการการดำเนินงานของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ยังส่งผลต่อการทำงานให้มีความสะดวก รวดเร็ว และขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายในอนาคตได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศไทย ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และนวัตกรรม อันจะเป็นการสร้างประโยชน์แก่สังคมโดยรวมร่วมกันต่อไป