อผส.ขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม”

อผส.ขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม”
วันที่ 15 NOV 2020 | ผู้เข้าชม 3,747 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

อผส.ขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม”

ในการประชุมการมอบนโยบายและขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้มอบหมายแนวทางการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายและการบูรณาการของกรมกิจการผู้สูงอายุออกเป็น 2 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย  

       1.ประเด็นมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติที่กรมฯ ได้ให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเจ้าภาพหลัก 6 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงความเป็นพฤฒิพลัง (Active Ageing) ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานภายใต้มาตรดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม อาทิ มีชุมชนต้นแบบการดูแลคุ้มครองผู้สูงอายุ 176 พื้นที่ ผู้สูงอายุมีงานทำ 231,000 คน ผู้สูงอายุได้รับการดูแล 11 ล้านคน ไปจนถึงการปรับแก้/เสนอ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เป็นต้น 

       2.ประเด็นมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติการพัฒนาผู้สูงอายุ (มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม มิติสุขภาพ และมิติสังคม) ต่างก็เป็นหนึ่งในมาตรการการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายและการบูรณาการของกรมกิจการผู้สูงอายุ โดยเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดำรงชีวิตในทุก ๆ มิติ ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างอิสระและยาวนาน ผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ การสนับสนุนในเรื่องระบบการออม และส่งเสริมการทำงานในยามสูงอายุ (มิติเศรษฐกิจ) การปรับแก้กฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมผู้พิการและคนชรา (มิติสภาพแวดล้อม) การดูแลแบบ Intermediate Care (มิติสุขภาพ) และการส่งเสริมความพร้อมของท้องถิ่นในการขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างถูกต้อง (มิติสังคม) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการส่งเสริมให้ทุกมิติเกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำสู่ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุง กฏหมาย ระเบียบ ประกาศ แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

คลังภาพ