หนาวนี้..ผู้สูงอายุควรระวัง !! เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิภายนอกเย็นลง

หนาวนี้..ผู้สูงอายุควรระวัง !! เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิภายนอกเย็นลง
วันที่ 12 JAN 2021 | ผู้เข้าชม 2,062 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี
แม้จะเลยปีใหม่มาแล้วแต่หลายพื้นที่ยังคงมีอากาศหนาวเย็นอยู่กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทยและยิ่งมักมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย
หากผู้สูงอายุเองหรือผู้ใกล้ชิดไม่ดูแลสุขภาพให้ดี อาจทำให้โรครุมเร้าจนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

          เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิภายนอกเย็นลง ปกติร่างกายจะตอบสนองด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างมาก ทำให้มีอาการหนาวสั่นเกิดขึ้น เพื่อทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เกิดความอบอุ่น แต่ผู้สูงอายุจะไม่สามารถตอบสนองได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว นอกจากนั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนัง ไม่ให้สูญเสียความร้อนออกจากร่างกายก็เสื่อมลง ในทางตรงกันข้าม เมื่อผิวหนังปะทะกับความเย็น หลอดเลือดฝอยจะหดตัว อาจมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย  และอาจกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจเฉียบพลันได้  ดังนั้นในช่วงนี้จึงควรดูแลร่างกายผู้สูงอายุให้อบอุ่นเป็นพิเศษในระยะต่างๆ ดังนี้  

           1.   การป้องกันโรคตั้งแต่ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะสุขภาพดี หรือการป้องกันในระดับปฐมภูมิ (primary prevention)   ได้แก่ การรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา ใช้เครื่องนุ่มห่มให้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ไม่ควรประมาทเพราะประเทศเราอยู่ในเขตร้อน จึงมักเคยชินกับการใช้เสื้อผ้าที่บาง หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในฝูงชนที่มีการระบายอากาศที่ไม่ดี เพราะอาจรับเชื้อไวรัสไข้หวัดจากผู้อื่นได้  แม้ในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วก็ตาม ส่วนผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และพกยาที่รับประทานประจำติดตัวไว้เสมอเมื่อออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างจังหวัดพร้อมเสื้อกันหนาวที่หนาพอ

            2.  การป้องกันโรคตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มแสดงอาการ  หรือการป้องกันในระดับทุติยภูมิ   (secondary prevention) เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะรุนแรง สำหรับผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา ใช้เครื่องนุ่มห่มให้เพียงพอ  หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเย็น ดื่มน้ำอุ่นเสมอ ไม่อดนอน และถ้าเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก การหายาลดไข้กินเอง อาจทำได้ในผู้ที่มีสุขภาพดีอยู่เดิม แต่ระวังยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอที่มีสารโคเดอีนผสมอยู่ มักทำให้มีอาการง่วงซึม อาจทำให้การดูแลตนเองลดลงได้ โดยเฉพาะการกินอาหารและดื่มน้ำอาจไม่เพียงพอ ส่วนผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่เดิม ควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าว  สำหรับผู้ที่มีอาการคันจากผิวแห้ง ควรใช้โลชั่นที่อ่อนโยนไม่ระคายเคืองผิว  เช่น  โลชั่นสำหรับเด็ก  จะปลอดภัยกว่าใช้โลชั่นทั่วไปที่มักใส่น้ำหอม อาจเกิดอาการแพ้และคันยิ่งขึ้นได้

            3. การป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการจากโรคที่แสดงอาการชัดเจนแล้วและกำลังได้รับการรักษาอยู่ หรือการป้องกันในระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคในระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการของโรคเดิมรุนแรงขึ้น

          อย่าลืมนะครับว่า ความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุและการดูแลด้วยความรักและผูกพันรวมทั้งกำลังใจจากลูกหลาน เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวได้

ที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1013
ขอขอบคุณ :  ศ.นพ.ประเสริฐ  อัสสันตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

https://unsplash.com/@philinit
https://unsplash.com/@vechorko

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมดี ๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวในการดำเนินงานของกรมกิจการผู้สูงอายุได้ที่.. 

https://www.facebook.com/OlderDOP

http://www.dop.go.th/
https://www.facebook.com/dop.go.th/
http://www.olderfund.dop.go.th/home

คลังภาพ