กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอนำเสนอ ‘Apple Watch’ สมาร์ทวอทช์ที่ช่วยให้ ผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่าย คัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ได้ 

กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอนำเสนอ ‘Apple Watch’ สมาร์ทวอทช์ที่ช่วยให้ ผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่าย คัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ได้ 
วันที่ 30 MAY 2021 | ผู้เข้าชม 4,988 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

ปัจจุบัน เราพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยในวันนี้หันมาใส่มาร์ทวอทช์ นาฬิกาอัจฉริยะเพื่อดูแลสุขภาพและตรวจเช็กข้อมูลสุขภาพของตัวเองกันเยอะมากๆ จากการสังเกตด้วยเวลาออกไปเดินตามถนนหนทาง ศูนย์การค้า และสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็จะมีทั้งผู้ใช้งานกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งรักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ ชอบที่จะศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อนาฬิกาอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองด้วยตัวเอง กับอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ลูก ๆ หลาน ๆ ซื้อหามาให้
ในวันนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอนำเสนอ ‘Apple Watch’ สมาร์ทวอทช์ที่ช่วยให้ ‘ผู้สูงอายุ’ ดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่าย คัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ได้ 

 

เราพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยในวันนี้หันมาใส่มาร์ทวอทช์ นาฬิกาอัจฉริยะเพื่อดูแลสุขภาพและตรวจเช็กข้อมูลสุขภาพของตัวเองกันเยอะมาก ๆ จากการสังเกตด้วยเวลาออกไปเดินตามถนนหนทาง ศูนย์การค้า และสถานที่ต่าง ๆ (ก่อนโควิด-19 จะระบาดรุนแรงในระลอกใหม่) ซึ่งก็จะมีทั้งผู้ใช้งานกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งรักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ ชอบที่จะศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อนาฬิกาอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองด้วยตัวเอง กับอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ลูกๆ หลานๆ ซื้อหามาให้ เราจึงถือโอกาสในช่วงนี้มาแนะนำฟีเจอร์การใช้งาน ‘บางส่วน’ จาก Apple Watch ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานกลุ่มผู้สูงวัยกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในแง่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพตัวเองเพื่อเฝ้าระวังการรักษาโรคต่างๆ

Apple Watch ช่วยให้ผู้ใช้งาน ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตัวเองได้ด้วย ‘ตัวเอง’

ว่ากันว่า ถ้าตัดเรื่องระบบนิเวศอุปกรณ์ Apple ที่อยู่ในลูปเดียว และความง่ายของอินเทอร์เฟซการใช้งานต่างๆ ออกไป อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจ Apple Watch มาคล้องข้อมือนั้นเป็นผลมาจากการที่มันมาพร้อมกับฟีเจอร์การใช้งานด้านสุขภาพ ‘Health’ ที่มีมาให้อย่างครบครัน (ข้อมูลจากผลสำรวจพบว่า กว่า 45% ของผู้ใช้งานที่ซื้อ Apple Watch มาใช้เป็นเพราะฟีเจอร์ด้าน Health)

โดยเฉพาะการวัดจังหวะการเต้นของหัวใจที่สามารถนำไปใช้งานต่อยอดเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการแจ้งเตือนภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติ, เต้นเร็วหรือช้าจนเกินไป หรือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG ที่เพิ่งเปิดให้ใช้งานในไทยไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่าน ส่วนผู้สูงอายุบางรายที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับยามค่ำคืน ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Sleep Tracking เพื่อตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ ข้อมูลการนอนในระหว่างที่ใส่ Apple Watch นอนหลับแต่ละคืน พร้อมตั้งเป้าหมายการนอนหลับหรือ Sleep Goal ในแบบที่ตัวเองต้องการ เพื่อยกระดับคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น โดยที่ในระหว่างนอนก็ยังสามารถตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกต่างหาก
 

ในด้านการแจ้งเตือนสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุที่สวม Apple Watch ก็ยังสามารถเฝ้าระวังการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมลพิษทางเสียงได้อีกด้วย ผ่านแอปฯ Noise ซึ่งจะแจ้งเตือนผู้ใช้งานในกรณีที่อยู่ในบริเวณที่เสียงรอบตัวดังจนอาจจะเป็นอันตรายกับสุขภาพการได้ยิน ซึ่งเราพบว่าเวิร์กมากๆ (ผู้เขียนมักจะได้รับการแจ้งเตือนนี้บ่อยๆ เมื่ออยู่ในร้านอาหารที่เปิดเพลงเสียงดัง) และก็ยังใช้ควบคู่ผ่านอุปกรณ์หูฟังต่างๆ เพื่อตรวจเช็กว่าเราฟังเพลงเสียงจากสื่อต่างๆ ในระดับที่ดังกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ได้ด้วย

มาต่อกันที่การตรวจวัดข้อมูลในแง่การเคลื่อนไหว ใน WatchOS7 ยังช่วยให้ผู้ใช้งานที่ใส่ Apple Watch ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถลงลึกตรวจเช็กข้อมูลการเคลื่อนไหวของตัวเอง (Mobility) ที่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย เช่น การก้าวเดิน การวิ่ง ฯลฯ เท่านั้น เพราะสามารถลงดีเทลได้ลึกถึง 6 ระดับมาตรวัด ตั้งแต่ ระยะของย่างก้าวที่เดิน, ความเร็วในการขึ้นลงบันได ไปจนถึงความเร็วในการเดิน เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกๆ หลานๆ คอยมอนิเตอร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังกรณีที่อาจจะเป็นความเสี่ยงในการเดินหรือการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันได้ดี

ส่วนในแง่ของการแจ้งเตือนกรณีเกิดอุบัติเหตุ ก็แน่นอนว่าตัว Apple Watch ตั้งแต่รุ่น 4 เป็นต้นมาสามารถใช้ฟีเจอร์การตรวจวัดการล้มแบบอัตโนมัติได้ (Fall Detection) ซึ่งในกรณีที่ผู้ใส่เกิดล้มจริงๆ แล้วไม่มีการตอบสนองใดๆ ตัว Watch ก็จะดำเนินการแจ้งผ่านคอนแท็กผู้ใช้งานฉุกเฉินที่เราได้ผูกไว้ตอนเปิดใช้งานได้ด้วยตัวเอง (ตรงนี้ลูกๆ หลานๆ สามารถเซ็ตอัพการคั้งค่าตัวเบอร์ติดต่อฉุกเฉินให้กับพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ได้ด้วยตัวเอง) และยังสามารถเพิ่มข้อมูลทางการแพทย์ Medical ID ไว้เพื่อป้องกันกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่มีใครคาดคิดได้อีก

ทั้งนี้สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นลูกๆ หลานๆ ซื้อให้ก็สามารถตั้งค่า Family Setup(เพิ่งเปิดตัวไปปลายปี 2020)ให้กับผู้ใช้งานสูงอายุด้วยตัวเองได้ เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนกรณีที่เกิดความผิดปกติของผู้สวมใส่ ซึ่งจะเด้งข้อความแบบอัตโนมัติบนอุปกรณ์ของเราได้ทันที ทั้งการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ การล้ม หรือในกรณีที่เกิดพลัดหลง สูญหาย ก็สามารถติดตามได้จากข้อมูล Find My ได้เลย เรียกได้ว่าสะดวกสุดๆ

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ใน Watch OS7 ยังเพิ่ม ‘ความหลากหลาย’ ในการปรับแต่งหน้าจอหน้าปัดนาฬิกามาให้ด้วย เอาไว้แก้ปัญหากรณีที่กังวลว่าตัวอักษร ตัวเลขบนนาฬิกาจะมี ‘ขนาดเล็กกว่า’ ที่จะมองเห็น ก็สามารถปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความถนัดในการมองเห็นของผู้สวมใส่ได้ง่าย ๆ เลย

คุณหมอพบ Apple Watch ช่วยคัดกรองผู้ป่วยขั้นต้น ให้ผู้ใส่มีข้อมูลสุขภาพตัวเองเวลามาพบแพทย์ได้

นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประโยชน์การใช้งาน Apple Watch ในผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงวัยกับ THE STANDARD โดยพบอินไซต์ที่น่าสนใจของยูสเคสการใช้งานจริงว่า ตั้งแต่ที่คนไข้สูงอายุบางรายนำ Apple Watch มาใช้งานควบคู่เวลาพบแพทย์ ก็ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลกรณีการผิดปกติที่ตัว Watch มีการแทร็กเก็บไว้ได้เลย โดยที่บางครั้งกรณีความผิดปกตินั้นๆ คนไข้อาจจะไม่รู้ตัว ไม่แสดงอาการ หรือจำไม่ได้ด้วยซ้ำ

ตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากๆ เพราะช่วยให้แพทย์สามารถได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งแม้จะไม่ใช้ข้อมูลที่นำมาประกอบการรักษาโดยตรง แต่ก็เป็นชุดข้อมูลของคนไข้ที่มีการเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหมอสุวานิชพบว่า Apple Watch ยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ Pre Screen ช่วยคัดกรองคนไข้ในเบื้องต้นได้ดีอีกต่างหาก โดยพบคนไข้เส้นเลือดสมองตีบจากการตรวจคลื่นหัวใจเบื้องต้นบน Apple Watch ก่อนจะดำเนินการตรวจซ้ำตามกระบวนการทางการแพทย์ถึง 2-3 ราย

และยังพบคนไข้ที่มีภาวะหัวใจสั่นพลิ้วมากกว่า 4 เคส จากที่มีการตรวจเบื้องต้นโดย Apple Watch ทั้งหมด 40 เคส (ระดับการคัดกรองที่ 10%) ซึ่งตรงนี้คุณหมอระบุว่า Apple Watch สามารถเข้ามาปิดช่องว่าง หรือ Gap การคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้สะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น 

เพียงแต่ข้อแนะนำที่คุณหมอเชื่อว่าอาจจะทำให้ผู้สูงอายุใช้งาน Apple Watch ได้ดีขึ้นในอนาคต คือหากมันสามารถใช้วัดระดับความดันของผู้สวมใส่ สามารถตรวจวัดคลื่นหัวใจได้ทันทีในกรณีที่ผู้ใช้งานเกิดอุบัติเหตุล้ม รวมถึงการหาแนวทางช่วยให้ผู้ใช้งานที่อาจจะมีภาวะมือสั่น แตะนิ้ววัดข้อมูลบนแป้นมะยม Digital Crown ได้แม่นยำขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ครบครันรอบด้าน

และนี่ก็เป็นทั้งหมดจากมุมมองการใช้งาน Apple Watch เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยที่สนใจจะใช้งาน หรือช่วยให้บรรดาลูกๆ หลานๆ ที่กำลังพิจารณาทางเลือกสมาร์ทวอทช์ให้กับคนที่รักสามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มา https://thestandard.co/apple-watch-health-care-smarrt-watch-for-help-seniors/

คลังภาพ