ล้อมวงสนทนากับทีมก่อตั้งเกษียณมาร์เก็ต หนึ่งในโครงการ 60’s playground ของโอลด์ เชียงใหม่

ล้อมวงสนทนากับทีมก่อตั้งเกษียณมาร์เก็ต หนึ่งในโครงการ 60’s playground ของโอลด์ เชียงใหม่
วันที่ 27 DEC 2020 | ผู้เข้าชม 3,085 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

กษียณมาร์เก็ต

ล้อมวงสนทนากับทีมก่อตั้งเกษียณมาร์เก็ต หนึ่งในโครงการ 60’s playground ของโอลด์ เชียงใหม่ ที่เปิดพื้นที่ให้วัยเกษียณออกมาแสดงตัวตนและศักยภาพ ผ่านกาดเช้าที่ต้องฮ้องว่าน่ารักขนาด

หากพูดถึงสูงวัย คงเห็นภาพคุณตาคุณยายไกวเปลเลี้ยงหลาน ฝ่ายหญิงสวมเสื้อคอกระเช้า ฝ่ายชายสวมเสื้อเชิ้ตสีตุ่น นุ่งกางเกงสแล็กทรงโคร่ง มาพร้อมกลิ่นแป้งตาบูหอมชื่นใจ และคน (เคย) หนุ่มสาวที่ก้าวเข้าวัยเกษียณล้วนมีอาการหมดไฟ และรู้สึกว่าคุณค่าของชีวิตบางส่วนหายไปกับกำลังวังชาและบทบาทที่ลดลงตามกาลเวลา

แต่ไฟแห่งชีวิตลุกโชนขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนเฒ่า (คนเหนือเปิ้นฮ้องสูงวัยว่าคนเฒ่า) วัย 60 พลัส ถูกเติมฟืนไฟด้วยการกลับมามีตัวตนและเห็นความงามของตัวเองผ่านการปล่อยแสงแห่งความหวังด้วยกันที่ เกษียณมาร์เก็ต https://readthecloud.co/the-senior-market/                                                                                                เกษียณมาร์เก็ต ถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่สร้างสุขของคนรุ่นใหญ่ ซึ่งคนรุ่นใหญ่ที่ว่าคือคนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย สถานที่แห่งนี้เป็นตลาดเช้าที่พ่อค้าแม่ขายวัยเกษียณมาสำแดงฤทธิ์และปล่อยของตลาดจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ หรือ โอลด์ เชียงใหม่ ที่ปีหน้าจะมีอายุครบรอบ 50 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หากเปรียบสถานที่ตรงหน้าเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังปรับตัวให้ซู่ซ่าสดใสเกินวัย

ก่อนอื่นให้ลบภาพของย่อหน้าแรกทิ้ง แล้วตั้งต้นด้วยคำว่า ‘อายุเป็นเพียงตัวเลข’ เพราะศักยภาพของป้ออุ้ย แม่อุ้ยกว่าครึ่งร้อยที่รวมตัวกันทำเอาเด็กอย่างเราสะท้าน ทั้งฝีปากเก่งกล้าชวนซื้อของ สเต็ปเทพของนักดนตรีวัยเก๋า นักร้องเสียงแจ๋วมากประสบการณ์ ครูสอนเวิร์กช็อปสุดเก๋ ที่ยกขบวนความน่ารักชวนคนต่างวัยมาทำความรู้จัก

 

เราตีตั๋วเสมือนจริงบินไกลถึงเชียงใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย ห้อมวงคุยกับ มิโกะ-ไอลดา ฟองเกตุ คอนเทนต์ เมเนเจอร์ และ เล็ก-พรนภา แตงแก้ว ครีเอทีฟ สองตัวแทนจากเกษียณมาร์เก็ต ที่อาสารับหน้าที่แบ่งปันบทสนทนาและเรื่องราวการคืนชีวิตชีวาให้คนสูงวัยแห่งเมืองเชียงใหม่ได้กลับมาสดใสร่าเริงเกินวัย 60+ ถือตะกร้าคล้องแขนแล้วเดินกาด (ตลาด) จับจ่ายความสนุกจากพื้นที่สร้างสุขของคนรุ่นใหญ่กันเลย!

สวัสดีวันจันทร์

“เรื่องมันเริ่มจากชีวิตประจำวันของชาวออฟฟิศเราที่ชอบเม้ามอยคุณพ่อคุณแม่”

เพียงประโยคเปิดบทสนทนาของครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของคณะเกษียณมาร์เก็ต ทำเราหูผึ่งอยากรู้ขึ้นมาทันทีว่า เรื่องของวัยเกษียณที่ถูกคนรุ่นลูกหยิบมาแบ่งปันความน่ารักผ่านวงสนทนามีอะไรบ้าง แค่คิดก็เดาว่าม่วนขนาด

“คุณแม่บอกเราว่าทำภาพกราฟิกสวัสดีวันจันทร์ให้หน่อย บางทีก็ให้ทำภาพแฮปปี้เบิร์ทเดย์วันเกิดเพื่อน เราเริ่มสงสัยว่าแม่รู้ได้ยังไงว่าต้องทำ หรือบางครั้งแค่คุณแม่กดแชร์ภาพถ่ายครอบครัวที่กินข้าวด้วยกันลงเฟซบุ๊ก มีคนกดไลก์เป็นร้อย เราก็คิดในใจว่า แม่เราก็พอๆ กับอินฟลูเอนเซอร์สมัยนี้เลยนะ กลับกันที่เขาเป็นคนวัยเกษียณ

“อย่างคุณพ่อเราบ้าซื้อเครื่องครัวมาก ซื้อ Le Creuset เลย เขาก็มาอวดว่ารู้หรือเปล่าเวลาล้างหม้อต้องใช้สก็อตไบรท์สีฟ้ายี่ห้อนี้เท่านั้น เราก็ เอ พ่อรู้มาจากไหน พ่อบอกว่าแอดเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กแล้วแลกเปลี่ยนความรู้กัน

“เราว้าวมาก เพราะเวลาที่เราเห็นเขาอยู่เฉยๆ เขาไม่ได้อยู่เฉยๆ เขากำลังเรียนรู้ในแบบของเขา มีการปรับตัว และพัฒนาเพื่อรับข้อมูลบางอย่าง บางมุมก็ใหม่มาก ขนาดเราเป็นคนวัยนี้ยังรู้ไม่เท่าเขา” เล็กเล่าด้วยเสียงสนุก

 

จากเรื่องเล่ากลายเป็นเรื่องจริง เมื่อทีมงานรุ่นลูกสะสมเรื่องราวคล้ายกันของคนรุ่นใหญ่จนเต็มกล่อง จึงหย่อนบัตรลงความเห็นว่า สิ่งที่วัยเกษียณไม่มีเหมือนวัยรุ่นคือพื้นที่ พื้นที่ที่ให้เขาได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา

“นอกจากสังเกตพฤติกรรมและเริ่มมีความคิดอยากทำเกษียณมาร์เก็ต เราค้นคว้าเพิ่มอีกนิดว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย และเชียงใหม่เป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีคนสูงวัยเกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด พอเห็นข้อมูล เราก็อยากดึงศักยภาพเขาออกมา อีกอย่างเขาเป็นวัยที่มีประสบการณ์เยอะมาก

“จุดประสงค์อีกข้อคือ เราอยากสร้างอาชีพ สร้างงานอดิเรกใหม่ เป็นพื้นที่ที่เขาได้มาพบปะเพื่อนฝูงและเชื่อมต่อกับคนทุกวัย และคนทุกวัยก็จะเห็นศักยภาพของคนสูงวัยจากพื้นที่ตลาดตรงนี้” คอนเทนต์ เมเนเจอร์เสริม พื้นที่ที่วางแปลนเอาไว้กลายเป็นเกษียณมาร์เก็ต ตลาดที่มีผู้ขายอายุ 60 ขึ้นไป

 

 

 ซึ่งสินค้าที่นำมาขายมีทั้งอาหารสูตรเด็ดเคล็ดลับครอบครัว งานคราฟต์ฝีมือช่างท้องถิ่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ นับรวมราว 60 ร้านค้า มีกิจกรรมเวิร์กช็อปน่าสนุกจากพ่ออุ้ย แม่อุ้ย แถมด้วยวงดนตรีสดที่อายุสมาชิกบวกรวมกันเกินร้อยแน่นอน ซึ่งตลาดนัดจะเปิดทำการเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือน เปิดให้ช้อป 8 โมงเช้าถึงบ่าย 2 เราแซวสองสาวว่า เปิดตลาดตั้งแต่เช้าตรู่เพราะเป็นเวลาตื่นนอนของเหล่า สว. (สูงวัย) ด้วยหรือเปล่า

“เรามองว่าช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ดีสำหรับครอบครัว แดดออก ลมเย็น เหมาะกับการทานอาหารเช้า ซึ่งในงานเราอยากให้ครอบครัวและคนหลายวัยมาคอนเนกกัน มาใช้พื้นที่ตรงนี้และมีความสุขด้วยกัน” มิโกะขยายความ ดูเหมือนว่าพื้นที่สร้างสุขของคนรุ่นใหญ่แห่งแรกของเชียงใหม่กำลังส่งต่อความสุขให้คนนับร้อย นับพัน

จักรวาลไลน์กลุ่ม

ก่อนจะก่อร่างสร้างเป็นเกษียณมาร์เก็ตเมื่อเดือนกันยายน วิธีทำการบ้านของทีมงานรุ่นลูกก็สนุกมาก

เล็กบอกว่า ทีมงานต้องทำรีเสิร์ชก่อนว่าจะเข้าหาคนสูงวัยด้วยวิธีแบบไหน การทำงานร่วมกันต้องเป็นอย่างไร และวิธีการสื่อสารต้องใช้สื่อประเภทใด ซึ่งอันสุดท้ายนี่แหละเด็ดดวง เพราะโซเชียลมีเดียกับคนรุ่นเก๋าเป็นของคู่กัน

“ทุกครั้งที่รับสมัครร้านค้า เราบูสต์โพสต์นิดหน่อยพอให้ข้อมูลกระจายออกไป และทุกครั้งเราต้องกดหยุด เพราะยอด Reach พุ่งมาก เรารู้ว่าคนเกษียณเขาเป็นสายแชร์ แต่ไม่ได้แชร์เหมือนพวกเราทำนะ เขาจะเซฟภาพแล้วส่งต่อในไลน์กลุ่ม เราเคยเห็นว่าในกลุ่มมีประมาณร้อยคน เขาก็ส่งต่อกันเรื่อยๆ บางครั้งมีตัวละครลับโผล่มาจากต่างอำเภอ จากต่างจังหวัด ติดต่อมาหาเรา ซึ่งพลังแชร์ของวัยเกษียณยิ่งใหญ่มาก” มิโกะเล่าด้วยความตื่นเต้น

กลุ่มไลน์ที่เป็นเสมือนฐานทัพลับของคนสูงวัย จักรวาลของพวกเขามีเยอะเกินกว่าเราจะคาด เช่น ไลน์กลุ่มเพื่อนสมัยเรียน แบ่งเป็นเพื่อนประถม เพื่อนมัธยม เพื่อนมหาลัย ยังไม่นับรวมเวลาส่งสูงวัยไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จะมีกลุ่มไลน์ทำงานฝีมือ กลุ่มไลน์วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ ซึ่งโลกไร้สายเชื่อมต่อกันระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด

 

 

วกกลับมาที่การทำคอนเทนต์ บรรดาทีมงานหยิบข้อมูลอินไซต์มาวิเคราะห์หาลู่ทางทำอาร์ตเวิร์ก มิโกะว่าในภาพกราฟิกเดียวต้องมีข้อมูลครบถ้วน ตัวอักษรต้องใหญ่สะดุดตาวัย 60 พลัส สีสันต้องฉูดฉาดดึงความสนใจ พลังแห่งการส่งต่อของสูงวัยทำให้ยอดจองร้านค้าในครั้งแรกเต็มด้วยเวลาอันรวดเร็ว ขอคารวะ!

 

อีกหนึ่งคอนเทนต์ที่เราขอยกนิ้วชื่นชมว่าเก่งขนาด คือการถ่ายทอดเรื่องราวของพ่อค้าแม่ขายวัยเก๋า

“ก่อนออกร้านเราสัมภาษณ์ก่อน แล้วเรื่องราวของเขาทำให้เราคันไม้คันมือคันปากอยากเล่าต่อ เลยเขียนเล่าสูตรเด็ดเคล็ดลับ เบื้องลึกเบื้องหลังของสินค้า เพื่อให้คนมางานเห็นภาพว่าเขาจะเจออะไร มันเป็นคอนเทนต์ที่เราตั้งใจทำเพื่อโชว์ผู้ขาย ซึ่งเป็นจุดเด่นของงาน ถ้าเราบอกว่าตลาดของเรามีอะไรขายบ้างมันคงไม่พอ” เล็กเล่าสารภาพว่าโดนตกอย่างราบคราบด้วยเรื่องราวและภาพอุ้มกระบุงฝรั่งกิมจูปลอดสารของอากงกวงซิง วัย 81 ปี

 

 

หลังประโยคแสดงความโปรดปรานของเรา สองสาวก็ส่งเสียงกรี๊ดราวกับเป็นแฟนคลับของอากงด้วย

“ฝรั่งเขาอร่อยจริง เราเสียเงินทุกรอบ” เล็กยืนยันความดีงาม

“เราได้รับฟีดแบ็กจากลูกหลานอากง เขามีความสุขที่เห็นอากงได้ออกจากบ้าน เห็นอากงยิ้มแย้ม ได้คุยกับลูกค้า ได้พรีเซนต์ของที่ปลูกในสวนตัวเอง เวลาอยู่ในงานอากงจะยิ้มตลอด คนในงานเห็นก็น่ารัก ยิ่งได้ยินว่าเขาเตรียมของรอวันมาขายที่เกษียณมาร์เก็ตเราก็อุ่นใจ มันเลยกลายเป็นความสุขของเราด้วยเหมือนกัน” มิโกะเสริม

สองสาวเล่าเรื่องบอกว่าคนเกษียณจะมีอินไซต์อยู่อย่าง คือร้านค้าที่มาออกงานส่วนใหญ่จะมีแฟนคลับตามติดมาด้วย อย่างอากงกวงซิง จะมีเพื่อนมารออุดหนุนและพบปะพูดคุยถึงหน้าแผง คล้ายมาให้กำลังใจกัน 

กายเกษียณ แต่ใจเกินร้อย

เกษียณมาร์เก็ตเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองวัย มีการพัฒนาและต่อยอดไอเดียร่วมกัน

อย่างดนตรีสดที่สร้างชีวิตชีวาให้กับงาน ก็เกิดจากความบังเอิญที่คุณลุงท่านหนึ่งกริ๊งกร๊างต่อสายมาบอกว่า อยากสมัครร้องเพลง คนรุ่นลูกไม่รอช้าตอบรับคำทันที พร้อมเปิดเวทีให้ปล่อยความสามารถสุดพลัง บางคนเคยเล่นดนตรีมาก่อน บางคนมาพร้อมกีตาร์หนึ่งตัว บางคนเป็นนักร้องในบาร์เก่า บางคนก็ฟอร์มวงกันที่นี่เป็นที่แรก

 

“ป้าแต๋นเป็นตัวละครเกือบลับของเรา ป้าขายงานจักสานและต๋าแหลวหลวง” เล็กพูดขึ้นมา 

“มีครั้งหนึ่งป้าแต๋นขอโต๊ะเสริม เพราะเขาอยากสอนวิธีจักสานให้กับลูกค้า คนมาเดินก็อยากเรียนรู้ทักษะงานฝีมือด้วย จากที่เขาเสนอมาเราก็รับเรื่องและเปิดเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปขึ้นมา” มิโกะร้องอ๋อและเสริมทัพทันที

เธอทราบมาว่าป้าแต๋นเคยเป็นครูพิเศษสอนจักสานล้านนาให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วเชียงใหม่มาก่อน

 

นอกจากเวิร์กช็อปงานฝีมือ ยังมีเวิร์กช็อปอาหารที่เรื่องราวอร่อยไม่แพ้กัน ต้นเรื่องเกิดจากเกษียณมาร์เก็ตชวนป้าเล็ก เจ้าของร้านน้ำพริกฉาน ไทใหญ่ มาแลกเปลี่ยนความคิดจนเกิดเป็นเวิร์กช็อปน้ำพริก ‘ฉาน’ เอง ชวนคนทุกเพศทุกวัยมาทำน้ำพริกฉานในแบบของฉัน โดยป้าเล็กจะแยกส่วนประกอบของน้ำพริกออกมาให้ปรุงตามชอบ

ระหว่างปรุงน้ำพริกสูตรเฉพาะตัว ป้าเล็กจะอธิบายและเติมความรู้จนกลมกล่อม หลังจบคลาสคุณป้าใจดีมองถึงความอิ่มอร่อยและความคุ้มค่า เลยเตรียมเบนโตะที่มีข้าว ผักต้ม และไข่ต้มไว้ให้ทานคู่กับน้ำพริก ‘ฉาน’ เอง

 

การทำงานกับคนวัยเกษียณ ยิ่งทำให้เข้าใจคนเกษียณมากขึ้นหรือเปล่า เราถาม

“เพิ่มขึ้นเยอะเลย” เธอสองคนตอบรับพร้อมกัน

“First Impression แรกเราว้าว เพราะเคยตั้งแง่กับภาพของคนวัยเกษียณมาก่อน เราว้าวที่เขายังมีไฟ ยังมีของ พอเราจัดงานเกษียณมาร์เก็ตแล้วเขายินดีร่วมงานกับคนวัยเรา เรายิ่งยินดีที่จะพัฒนาต่อกับเขา” เล็กยิ้ม

“ภาพจำวัยเกษียณของเราเปลี่ยนไป บางครั้งได้ยินคำว่ามนุษย์ป้า มนุษย์ลุง จะต้องหัวแข็ง ขี้วีน หรือหกสิบ เจ็ดสิบต้องอยู่บ้านเลี้ยงหลาน พอเราได้เห็นอีกมุมหนึ่งมันทำให้รู้สึก เห้ย เขาก็แค่อายุเพิ่มขึ้น แต่เขาเปิดใจเพื่อจะพัฒนาตัวเอง เราว่ามันเป็นคุณสมบัติที่น่ารักและน่านับถือที่เขาพร้อมจะเรียนรู้ต่อ” มิโกะส่งความประทับใจ

โตมาด้วยกัน

สถานที่จัดเกษียณมาร์เก็ตคือพื้นที่เดียวกันกับ ‘ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่’ หรือ โอลด์ เชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งโดยอุณณ์ ชุติมา ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเที่ยวฮาวายและมองการณ์ไกลว่าเชียงใหม่ยังไม่มีศูนย์แสดงวัฒนธรรม

เธอกลับมาเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้บริเวณตำบลหายยา โดยสร้างตำนานขันโตกดินเนอร์เป็นเจ้าแรกของเชียงใหม่ เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมอาหารเป็นหนึ่งเสน่ห์ของเมืองล้านนา จนช่วง COVID-19 นักท่องเที่ยวน้อยลง โอลด์ เชียงใหม่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยด้วยเปิดพื้นที่ทำเกษียณมาร์เก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ 60’s playground

 

 

“เรามองว่าพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีคอนเนกชัน มีความผูกพันกับวัยเกษียณที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้ว คนเชียงใหม่บางคนโตมากับที่นี่ แล้วปีหน้าโอลด์ เชียงใหม่ จะอายุครบห้าสิบปี ซึ่งเป็นรุ่นน้องวัยเกษียณด้วยซ้ำ พวกเราเลยอยากให้โอลด์ เชียงใหม่ เป็นน้องที่คอยซัพพอร์ตรุ่นพี่วัยเกษียณด้วยเหมือนกัน” มิโกะเล่าสัมพันธ์พี่-น้อง

“สำหรับเรา เชียงใหม่ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมแบบที่ทุกคนเข้าใจ แต่ความเป็นเชียงใหม่วัฒนธรรมของมันก็คือผู้คนที่อยู่ข้างใน และผู้ขายในเกษียณมาร์เก็ตก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของเชียงใหม่ที่เราอยากนำเสนอด้วย” เล็กเสริม

 

 

โอลด์ เชียงใหม่สัญญาว่าจะไม่หยุดอยู่แค่ตลาดค้าขาย แต่จะต่อยอดโปรเจกต์ต่อภายใต้ 60’s playground

เล็กเสิร์ฟน้ำจิ้มให้เราฟังว่า ครั้งหน้าเราจะเห็น เกษียณ On The Table คล้ายกับ Fine Dining ต่างที่ไม่มีเชฟดังมาปรุงอาหาร แต่เป็นแม่ครัวพ่อครัววัยเกษียณที่มีประสบการณ์มากกว่า 60 ปี มายืนยันว่ารสมือลำขนาดเจ้า

เมื่อคิดแล้วต้องคิดใหญ่ ทีมงานแง้มว่า เขาจะชวนช่างฝีมืองานคราฟต์รุ่นเก๋ามารังสรรค์ผลงานด้วยกัน เช่น ผ้าทอสำหรับปูโต๊ะ Fine Dining อุปกรณ์ตกแต่งโต๊ะอาหาร ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้ คือเสียงดนตรีที่ขับกล่อมมื้ออร่อย

กระซิบว่าอาจจะมีเกษียณทริปตามรอยสถานที่สุดปังของแก๊งสูงวัยสลับกับคาเฟ่ฮอปปิ้งสไตล์วัยรุ่น

หกสิบยังแจ๋ว

“เกษียณมาร์เก็ตเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของคนเกษียณที่เรียกว่า Active Aging ที่ยังมีเรี่ยวแรง มีพลังซู่ซ่า นอกจากเราพาตัวละครเหล่านี้ออกมาแสดงตัวตนกับคนอื่นแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้วัยเกษียณ ว่าเขาสามารถนำสิ่งที่เคยทำกลับมาทำใหม่ให้จริงจังมากขึ้น ผลพลอยได้คือมันสร้างแรงบันดาลใจให้คนวัยอื่นด้วย

“สิ่งเหล่านั้นมันขับเคลื่อนพวกเราในการทำเกษียณมาร์เก็ตด้วยเหมือนกันนะ เราได้เห็นไอเดียของคนอีกรุ่นหนึ่งที่นำพาคนวัยเกษียณให้ทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เขาได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” เล็กอธิบายถึงพื้นที่สร้างสุขของคนรุ่นใหญ่ที่มีส่วนช่วยลดปัญหาว่าด้วยความรู้สึกที่ถูกทอนบทบาทคุณค่าลงเมื่อสูงวัยก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ

 

มากกว่าการตื่นเช้าตรู่มาลมแดดอ่อนและแวะเดินกาดคนสูงวัย คือการมองเห็นคุณค่าและศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของคนวัย 60 ที่หลายคนเคยมองข้าม ขณะเดียวกันการทำงานระหว่างคนสองรุ่นที่อายุต่างกันสุดขั้ว ก็เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดยักษ์ที่มีประสบการณ์ของคนหนุ่มสาวและ (เคย) หนุ่มสาวมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันและกัน

ก่อนเครื่องบินทางไกลไร้สายจะบินกลับเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เราชวนสองสาวคิดถึงอนาคตอันไกลว่า

พวกเธอมองภาพวัยเกษียณของตนเองเป็นแบบไหน

“เราเคยคิดกับทีมงานว่า ถ้าถึงเกษียณมาร์เก็ตครั้งที่ห้าร้อย พวกเราจะขายอะไรกันดี ใครจะมาดูแลงานแทนเรา เราก็เริ่มคิดแล้วนะว่าอนาคตเราจะเป็นยังไง จะทำอะไรดี คงต้องคิด ระวัง และเตรียมตัว” เล็กตอบด้วยรอยยิ้ม

 

 

“ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าไม่เคยคิดถึงขั้นหกสิบแล้วจะทำอะไร พอถามแบบนี้เราว่าการวางแผนชีวิตวัยเกษียณควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ คงต้องดึงศักยภาพของตัวเองออกมา อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรียน แต่เป็นประสบการณ์ที่สะสมไว้ ถ้าถึงตอนนั้นมีคนซัพพอร์ตเราแบบที่เราทำอยู่ตอนนี้ เราคงจะเป็นคนเกษียณที่มีความสุข” มิโกะจบบทสนทนา

จากเรื่องราวและบทสนทนาสนุก เราประทับใจที่เด็กอายุ 20 ปลายถึง 30 ต้นคอยเป็นคบเพลิงจุดประกายไฟให้คนวัยเกษียณ และพวกเขาก็รับเปลวไฟที่ลุกโชติช่วงต่อจากคุณลุง คุณป้า มาเป็นฟืนเติมไฟให้ตัวเองอีกครั้ง

 

ขอขอบคุณที่มา : https://readthecloud.co/the-senior-market/
เรื่อง สุทธิดา อุ่นจิต ภาพ ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์ 

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมดี ๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวในการดำเนินงานของกรมกิจการผู้สูงอายุได้ที่.. 

 https://www.facebook.com/OlderDOP, http://www.dop.go.th/ และ https://www.facebook.com/dop.go.th/.
http://www.olderfund.dop.go.th/home