ประจำปี 25660 : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)

ประจำปี 25660 : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)
วันที่ 15 MAY 2017 | ผู้เข้าชม 16,784 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

        สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)  นามเดิม ประยุทธ์ นามสกุล อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายสำราญและนางชุนกี อารยางค์กูร เกิดที่ตลาดใต้ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ปัจจุบันสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) มีอายุ 79 ปี

        เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้

        เมื่ออายุย่าง 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี และเริ่มเรียนพระปริยัติธรรม ณ ที่นั้น ต่อมาท่านก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับเป็นนาคหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้นามฉายาว่า ปยุตโต แปลว่า ผู้เพียรประกอบแล้ว นับเป็นสามเณรรูปที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ให้อุปสมบทในฐานะนาคหลวงเมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้นามฉายาว่า ปยุตโต แปลว่า ผู้เพียรประกอบแล้ว

        ปี 2505 ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสอบได้ วิชาชุดครู พ.ม. ในปี พ.ศ. 2506

        หลังจากสำเร็จการศึกษา เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้เข้าเป็นอาจารย์ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำแหน่งรองเลขาธิการ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม นอกจากสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับอารธนาไปสอนและบรรยายในต่างประเทศอีกหลายแห่งอาทิ เช่น University of Pennsylvania ,Swarthmore College University of Pennsylvania และ Harvard University

         

            สมณศักดิ์

          1) พ.ศ. 2512  โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี

2) พ.ศ. 2516  โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิตมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

3) พ.ศ. 2530  โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

4) พ.ศ. 2536  โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร

                     บวรสังฆาราม คามวาสี

          5) พ.ศ. 2547  พระราชทานโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติ                                 โกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

          6) พ.ศ. 2559  พระราชทานโปรดสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลก

                              วรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฎ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

          เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับการยกย่องเกียรติคุณเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ และสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศหลากหลายรางวัล อาทิ รางวัลประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก สถาบันนาลันทา ประเทศอินเดีย ถวายตำแหน่ง “ตริปิฎกาจารย์” หมายถึง อาจารย์ผู้รู้ ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลกถวายตำแหน่ง “เมธาจารย์” และได้รับถวายโล่วัชรเกียรติคุณจากคณะกรรมการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวได้ว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เป็นพระเถระผู้เป็นนักปราชญ์แห่งยุครัตนโกสินทร์ เป็นพระเถระผู้แตกฉานทั้งพุทธศาสตร์และศาสตร์สมัยใหม่ ยิ่งกว่านั้น เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ยังได้ใช้ความรู้ เพื่อใช้ปกป้องสังฆมณฑล ในประเทศไทยไว้หลายกรณี รวมทั้งมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยด้านการบริหารประเทศ โดยการนำหลักพุทธธรรม มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาชาติ 

          คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบประกาศสดุดีมอบรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2560 เพื่อบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติและเกียรติยศให้ปรากฎสืบไป

          

“โลกต้องการคนดี มิใช่เพื่อให้มารับรางวัล

แต่เพื่อมาช่วยทำชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น

ไม่มีทำความดีมาเสริมตัวตน

แต่พึงสละตนเพื่อเสริมความดี

คนทำดีอย่างแท้จริง เสียสละได้

แม้กระทั่งการที่จะทำให้คนอื่นรู้ว่า

ตนได้ทำความดี”

 

                                                                                                                                         

                                                                                                                                              สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)

                                                                                                                                                 ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2560