นวัตกรรม ‘กิน-อยู่’ เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ

นวัตกรรม ‘กิน-อยู่’ เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ
วันที่ 18 JAN 2021 | ผู้เข้าชม 4,396 ครั้ง | โดย กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (ทนส.กยผ.)

ในงาน Healthcare 2020 ภายใต้แนวคิด สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ ของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจเข้ากับกระแสสังคมสูงวัย คือ Health Forum : MTEC กับนวัตกรรมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีนักวิจัยไทยมาแชร์และโชว์นวัตกรรมการ ‘กิน-อยู่’ จากงานวิจัยที่ใช้ได้จริง เพื่อให้สังคมไทยเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับสังคมสูงวัย ผ่านประสบการณ์และองค์ความรู้จาก 3 นักวิจัยไทย ได้แก่ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ดร.บุญล้อม ถาวรยุติการต์ หัวหน้าทีมวิจัยอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และ ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้สูงอายุนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องมีเป็นลำดับแรก มีคือมีประโยชน์ ตามด้วยมีความดึงดูดด้วยดีไซน์ที่น่าใช้งาน โดยที่ผู้ใช้ต้องไม่รู้สึกว่าดูเป็นคนแก่เกินไป และไม่ขัดกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นทีมวิจัยเอ็มเทค ได้ให้ความสำคัญกับคนรอบข้างผู้สูงอายุ ได้แก่ ลูกๆ หลานๆ ที่เป็นผู้ดูแลเองที่บ้าน รวมถึงพยาบาลที่ได้มาให้ข้อมูลกับทีมวิจัยเพิ่มเติม

  

“ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. จะใช้กระบวนการออกแบบที่นำเอาผู้ใช้มาเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ หรือ Human-centric design โดยให้ความสำคัญทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแล ในทุกช่วงของการออกแบบอุปกรณ์การใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ”  

ผลงานเตียงตื่นตัว คือ หนึ่งในผลงานที่ทีมวิจัยได้รับการตอบรับอย่างดี โดยเป็นเตียงนอนที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ ลุก-นั่ง ยืน-ก้าวลงจากเตียงด้วยตนเองอย่างมั่นใจและปลอดภัย การใช้งานก็ง่ายและสะดวก ผู้สูงอายุสามารถปรับเปลี่ยนจาก “ท่านอน” มาสู่ “ท่านั่ง” ด้วยตนเอง ผ่านการกดรีโมตเพียงปุ่มเดียว อีกทั้งเตียงยังปรับหมุนไปด้านซ้ายขวาในมุม 90 องศา ในลักษณะ “พร้อมลุกยืน” ได้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการนอนติดเตียงและการพลัดตกหกล้ม ที่สำคัญโครงสร้างเตียงมีความแข็งแรง ปลอดภัยต่อการใช้งานสูง

นอกจากนั้นแล้วยังมีผลงาน “เกมฝึกสมอง ชื่อ MONICA” ที่ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ซึ่งทีมวิจัยเอ็มเทค ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ผู้สูงวัย สุขกายสุขใจ สถาบันประสาทวิทยา ซึ่งเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อม ประเภท Daycare และโรงพยาบาลรามาธิบดี มีรูปแบบวิธีการดูแลผู้สูงอายุด้วยการทํากิจกรรมบําบัด จนเกิดเป็นนวัตกรรม เกมฝึกสมอง สําหรับช่วยฝึกสมาธิ ความจํา การเรียนรู้ การมองเห็นและตอบสนอง การวางแผน การตัดสินใจ และยังช่วยเพิ่มความภูมิใจให้ผู้สูงอายุมั่นใจในความสามารถของตนเองด้วยการเอาชนะระดับความยากที่เพิ่มขึ้นของเกม ผู้สนใจฝึกสมองป้องกันภาวะสมองเสื่อมดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีที่ App store https://apps.apple.com/th/app/monica/id1260878586  และที่ Play store https://play.google.com/store/apps/details?id=th.co.digitalpicnic.monica

นวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นกับกลุ่มผู้สูงอายุ ต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แบบไหนลักษณะใดจะเข้ากับผู้สูงอายุแต่ละคน ทีมวิจัยเอ็มเทค ให้ความสนใจกับการออกแบบ ‘อุปกรณ์เฉพาะบุคคล’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญาทางร่างกายและความแตกต่างในสรีระของแต่ละบุคคลแล้ว ยังช่วยให้ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพตนเองได้ใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ด้วย  

ดร.บุญล้อม ถาวรยุติการต์ กล่าวว่า ทีมวิจัย ได้ออกแบบแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคล หรือ 3D sole เนื่องจากอาการปวดเท้าเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่สามารถประสบด้วยตัวเอง แม้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่หากมีอาการสะสมนานขึ้นจะเกิดการเรื้อรังและส่งผลต่ออาการปวดในอวัยวะอื่นๆ ตามมา เช่น เข่า สะโพก และหลัง อาการปวดเท้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อของเท้าที่ผิดปกติ อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายมีการเสื่อมของเอ็นและกล้ามเนื้อส่งผลทำให้สรีระของเท้ามีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากส่งผลให้เท้าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น รวมถึงผู้ที่มีลักษณะอุ้งเท้าแบนหรือเท้าไม่มีอุ้ง

  

“3D sole หรือแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคล ใช้การออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล ทำให้ช่วยกระจายการลงน้ำหนักของร่างกายได้อย่างสมดุลในเวลายืนหรือเดินได้ ลดอาการปวดเท้าลงได้ และช่วยพยุงอุ้งเท้าอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ทรุดตัว และแตกหัก เป็นอุปกรณ์ที่ทีมวิจัยคัดเลือกและพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์ขึ้นมา ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบอุปกรณ์ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ และใช้เทคโลยีการพิมพ์สามมิติมาช่วยในการผลิตอุปกรณ์ ซึ่งทำให้อุปกรณ์มีความเที่ยงตรงสูงและผลิตได้รวดเร็ว อีกทั้งยังมีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาในการออกแบบด้วย”

ดร.บุญล้อม กล่าวว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต้นแบบ “อุปกรณ์พยุงหลังเฉพาะบุคคล” ที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อช่วยพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนที่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะมีภาวะกระดูกพรุน และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกสันหลังหักได้  โดยอุปกรณ์นี้ยังมีความสำคัญกับกลุ่มผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ซึ่งในขณะที่กำลังมีการเจริญเติมโตกระดูกสันหลังอาจมีการคดหรือบิดได้ หากผู้ปกครองพบว่าลูกหลานเริ่มเป็นโรคกระดูกสันหลังคด อุปกรณ์นี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะป้องกันและลดองศาของกระดูกสันหลังที่คดได้

อาหารเป็นอีกปัจจัยสำคัญการดำรงชีวิต แต่อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะต่อการบดเคี้ยว การช่วยย่อยง่ายให้ง่ายขึ้นและยังคุณค่าทางอาหารนั้น อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทีมวิจัยเอ็มเทค จึงนำองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ มาออกแบบอาหารตามที่ต้องการได้ หรือเรียกว่า ‘อาหารออกแบบได้’

ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค ออกแบบอาหารโดยอาศัยแนวคิดทางวัสดุศาสตร์ 3 ด้านได้แก่ การเข้าใจโครงสร้าง การเข้าใจคุณสมบัติ และวิธีการผลิตอาหาร

‘ไส้กรอกไขมันต่ำ’ คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารไขมันต่ำที่ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนาสำเร็จและถ่ายทอดให้บริษัทขายแล้ว โดยได้ปรับลดปริมาณไขมันในไส้กรอกจากเดิม 25% ให้เหลือเพียง 3% ซึ่งเมื่อนำไขมันออกมาแล้ว ทีมวิจัยได้ใช้สารทดแทนไขมันที่เหมาะสมและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกไขมันต่ำที่มีคุณภาพทางประสาทสัมผัสใกล้เคียงสูตรดั้งเดิม  

  

นอกจากนี้ปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุในการรับประทานอาหาร คือ การอาการสำลักอาหาร ซึ่งเกิดจากอวัยวะในช่องปากเสื่อมลง และไม่สามารถดื่มน้ำหรือบริโภคของเหลวได้เหมือนคนปกติ ทีมวิจัยเอ็มเทค จึงได้ร่วมงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในการพัฒนา ‘ผงเพิ่มความหนืด’ ที่สามารถใช้เติมไปในน้ำและเครื่องดื่มให้มีความหนืดเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดการไหลเข้าสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น ไม่เกิดการติดอยู่บริเวณคอหอยหรือหลุดเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการสำลักได้ ในเรื่องการบดเคี้ยวอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทีมวิจัยยังสามารถใช้องค์ความรู้ในการปรับโครงสร้างของเนื้อสัตว์ ให้เกิดการแตกหักง่ายขึ้น เมื่อผู้สูงอายุรับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ง่ายๆ จากการใช้เหงือกหรือการใช้ลิ้นดุนเพื่อให้เนื้อสัมผัสของเนื้อสัตว์แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น และในปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D food printing) เพื่อตอบรับความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะบุคคล ที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานนวัตกรรมจากนักวิจัยไทย ที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อการกินอยู่ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย