กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑
วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฏาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3
ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน
การประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ ดังนี้
- เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สังคมสูงวัยเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 เพื่อให้การบูรณาการในการทำงานรองรับการเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มุ่งเน้น
การทำงานเชิงรุกขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วน ในปี 2561 – 2564 โดยการปรับเปลี่ยนระบบกลไกการทำงานภาครัฐ 4 ประเด็น คือ (๑) กำหนดให้สังคมสูงวัยเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
(๒) การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ (๓) ข้อมูลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (๔) นวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน 6 ประเด็น คือ (๑) การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (๒) การทำงานและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ (๓) ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (๔) ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ (๕) ธนาคารเวลา (๖) การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่อง การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้เห็นชอบมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ 3 เรื่อง ได้แก่ สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ในด้านสถานที่ ด้านความปลอดภัยและด้าน
การให้บริการ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ๑๘, ๗๐, ๔๒๐ ชั่วโมง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน - เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่น สามารถดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่มีภาวะพึ่งพิง โดยให้ค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้สูงอายุ
- จ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2561) โดยจ่ายเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ให้จ่าย 100 บาทต่อเดือน
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปีแต่ไม่เกิน 100,000บาทต่อปี
ให้จ่าย 50 บาทต่อเดือน
รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้เน้นบูรณาการการทำงานอย่างเป็นองค์รวมสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยมีการเชื่อมโยงกลไกการทำงาน ตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด และพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย โดยการปลดล็อคอุปสรรคในการทำงาน เช่น ปรับกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินงาน พัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการ และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”