“บทบาทการดูแลผู้สูงอายุในระดับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ASEAN+3

“บทบาทการดูแลผู้สูงอายุในระดับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ASEAN+3
วันที่ 3 ส.ค. 2561 | ผู้เข้าชม 3,640 ครั้ง

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๔.๐๐ น. อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ) เป็นประธานในการเปิดตัวรายงาน เรื่อง “บทบาทการดูแลผู้สูงอายุในระดับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม” ณ ห้องจูปิเตอร์ ๑๒ - ๑๓ อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ (นางสาวศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์) ผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน นักวิจัย นักวิชาการ ภาคีเครือข่าย และองค์การระหว่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๙๒ คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุได้ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษา เรื่อง “บทบาทการดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ในระดับครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น” เพื่อศึกษาสถานการณ์ประชากรสูงอายุ รวมถึงรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศจากประเทศสมาชิก ร่วมจัดทำรายงานประเทศทำให้การศึกษาเรื่องนี้สมบูรณ์ และสามารถนำมาเปิดตัวได้ในวันนี้ เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนและกลุ่มประเทศบวกสาม ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้เป็นแนวทางพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ทั้งนี้ ผลการศึกษาและความคิดเห็นต่อรายงานการศึกษาสามารถสรุปได้ ดังนี้ - สถานการณ์ประขากรผู้สูงอายุของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามมีความหลากหลาย โดยบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) กว่าร้อยละ 33 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และลาว มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด - ผู้แทนของ UNESCAP ได้กล่าวว่า ปี 2050 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภูมิภาค เนื่องจาก ประเทศสมาชิกส่วนมากได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ - การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ ยังหมายถึงการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงานที่เป็นฐานสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยังเกี่ยวพันถึงการลดลงของภาษีและเงินสะสมสำหรับบำนาญขั้นพื้นฐานอีกด้วย - ระบบการดูแลสุขภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ โดยได้ถูกกล่าวถึงในรายงานของประเทศสมาชิกเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงการเข้าถึง และความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ - การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (long-term care) ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศสมาชิกให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (individual care plan) รวมถึงผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานต่างชาติ ที่ควรมีสวัสดิการและแผนการดูแล ควบคุม ให้เป็นระบบมากขึ้น ข้อเสนอเชิงนโยบายจากการศึกษา สรุปได้ดังนี้ - ระบบบำนาญที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควรมีการขยายผลหรือปรับเปลี่ยนแนวทาง เช่น จากการให้บำนาญขั้นพื้นฐานกับประชาชนแบบไม่ร่วมจ่าย เป็นการให้สนับสนุนทางการเงินแก่สมาชิกครอบครัวที่ต้องออกจากงานมาดูแลผู้สูงอายุ - การทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อเข้ารับบริการสุขภาพที่มีอยู่ - พัฒนาระบบประกันเพื่อการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุให้มีความยั่งยืน - การฝึกทักษะผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบวิชาชีพ และสำหรับสมาชิกครอบครัวที่ให้การดูผู้สูงอายุ - การมีนโยบายรองรับแรงงานต่างชาติที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ

คลังภาพ