ผส. จัดประชุมเข้ม “สังคมไทย ไร้ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ” หวั่นคนไทยไม่ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ
ผส. จัดประชุมเข้ม “สังคมไทย ไร้ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ” หวั่นคนไทยไม่ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ
วันอังคารที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ) เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหา ปี ๒๕๖๒ ในหัวข้อ “สังคมไทย ไร้ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ” ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ (นางศิริลักษณ์ มีมาก) ผู้อำนวยการกอง/ กลุ่ม ข้าราชการในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าร่วมการประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชุม ดังนี้
๑. สร้างความเข้มแข็งในครอบครัวชุมชน โดยบูรณาการร่วมกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน โรงเรียนผู้สูงอายุ โรงเรียนครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน พื้นที่ดำเนินการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ๔๘ แห่ง ส่งเสริมงานจิตอาสา ธนาคารเวลา พื้นที่ดำเนินการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๔๓ แห่ง กรุงเทพมหานคร
๒. รณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงภัยความรุนแรงในผู้สูงอายุ โดยจัดหานักแสดง/ ผู้มีชื่อเสียงในสังคมเป็น Presenter และจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ผู้สูงอายุในการสร้างค่านิยม และทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ โดยใช้การพูดคุย สร้างสัมพันธ์ (TALK) T = Touch กอด สัมผัส A = Ask ทักทาย สอบถาม L = Listen รับฟัง K = Kiss หอม
ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๐ มีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายกว่า ๘๐๐ ราย โดยอันดับปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุ มีดังนี้
อันดับที่ ๑ ความรุนแรงด้านจิตใจ (๒๖ % ของผู้สูงอายุโดนคนในครอบครัวทำร้ายจิตใจ)
อันดับที่ ๒ ปัญหาการทอดทิ้งไม่ดูแล
อันดับที่ ๓ ปัญหาการถูกหลอกลวงทรัพย์สิน
อันดับที่ ๔ การถูกทำร้ายร่างกาย (๙ % ของผู้สูงอายุโดนคนในครอบครัวทำร้ายร่างกาย)
อันดับที่ ๕ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ จะสามารถลดปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง และถูกทารุณกรรมในทุกมิติได้ สร้างความมั่งคงและปลอดภัยให้ผู้สูงอายุมีในการดำเนินชีวิต และให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญและการให้ความเคารพผู้สูงอายุต่อไป
ภาพ/ข่าว : ฌาณวิทย์ คงคาเขตร
กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขานุการกรม, กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ
สามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรมดี ๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวการดำเนินงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ที่ http://www.dop.go.th/ และ https://www.facebook.com/dop.go.th/, https://www.facebook.com/OlderDOP