ประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง " ความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุค Covid-19"

ประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง
วันที่ 17 พ.ย. 2563 | ผู้เข้าชม 2,515 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.15 น. นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรร่วมเสวนาในงานจัดประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง " ความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุค Covid-19"  ภายใต้หัวข้อ "ปรับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดนโยบายพฤฒพลังในยุค Covid-19" โดยมี ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ เป็นประธานงานเสวนาฯ พร้อมด้วย Mr. Najib Assifi รักษาการผู้อำนวยการ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ดร.วาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริ และ ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นางสาวพิชชาภา จุฬา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN นางสาวจารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมกิจการผู้สูงอายุ ภาคีเครือข่ายด้านผู้สูงอายุเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าว รวมจำนวนกว่า 80 คน ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานประชุมเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโครงการวิจัยระดับประเทศในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในทุกมิติ สำรวจผลกระทบของโควิดกับผู้สูงอายุในชุมชนของจุฬาอารี ตลอดจนการประชุมระดมความคิด จากผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เพื่อแก้ปัญหาทางออก หากเกิดวิกฤตในลักษณะ Covid-19 ในอนาคต และก่อให้เกิดการนำผลวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในโอกาสนี้ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ ได้กล่าวในประเด็นปัญหาและแนวทางการรับมือจากสถานการณ์ Covid-19 ไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้สูงอายุในช่วงการระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ไม่สามารถเข้าไปดูแลผู้สูงอายุได้อย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยแนวทาง “สร้างความรู้ ให้ความรู้ จนก่อให้เกิดความเข้าใจในทุกฝ่าย” โดยการสร้างการสื่อสารสู่ผู้สูงอายุ บุคลากรของกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการรับมือกับ Covid-19 อาทิ การเปิดสื่อความรู้ในการรับมือกับปัญหา Covid-19 ให้กับผู้สูงอายุทั้ง 12 ศูนย์ ได้รับฟัง รวมถึงการประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุได้รับทราบ

ทั้งนี้ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีฯ ยังได้แสดงทัศนะภายใต้หัวข้อ "ปรับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดนโยบายพฤฒพลังในยุค Covid-19" ไว้ว่า กรมกิจการผู้สูงอายุได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางความคิด เข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ การเกิดบริการรูปแบบใหม่ด้วยการสื่อสารกับผู้สูงอายุผ่านสถานีวิทยุ หรือที่เรียกว่า “โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ” การใช้หุ่นยนต์เข้าดูแลผู้สูงอายุจากการสนับสนุนของโครงการจุฬาอารี ตลอดจนการใช้นวัตกรรมทางความคิด อาทิ การขยายเครือข่ายการทำงานจากสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย หน่วยงาน พมจ. ในแต่ละจังหวัด ศพส. 12 แห่ง รวมไปถึงพลังจาก อพม. อสม. ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความช่วยเหลือและเสริมพลังให้แก่ผู้สูงอายุในภาวะวิกฤติ Covid-19 ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่นอกจากจะช่วยเหลือผู้สูงอายุในทางตรงแล้วนั้น ยังถือว่าแนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสในการช่วยเหลือ แบ่งปันดูแลซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้สูงอายุรวมถึงสังคมในภาพรวมต่อไป