พม. จัดประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น

พม. จัดประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
วันที่ 5 ก.พ. 2564 | ผู้เข้าชม 2,437 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

 

วันนี้ (5 ก.พ. 64) เวลา 14.00 น. นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยมี นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางสาวนริศา  อดิเทพวรพันธุ์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ 
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตามที่ปรากฎตามสื่อกรณีเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพจากผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยมีผู้สูงอายุได้รับผลกระทบ  จำนวน 15,323 คน ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1 ให้นำความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ชะลอการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นไว้ก่อน 
2. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางเยียวยาผู้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นและเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยสุจริตต่อไป
3.ให้แต่งตั้งคณะทำงานหนึ่งชุด โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านผู้สูงอายุ ที่มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานดำเนินการพิจารณาสิทธิซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า ควรมีกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับสิทธิซ้ำซ้อน คือนอกจากสิทธิพิเศษแล้ว ยังสามารถรับสิทธิจากการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้คำแนะนำว่าเช่น  กลุ่มบำนาญพิเศษ เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้รับมอบหมายจะต้องเป็นผู้พิจารณาต่อไป เพื่อที่จะได้นำมาสู่การตัดสินใจทางนโยบายต่อไป