เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก่อน โรคข้อเสื่อม จะมาเยือน หรืออาการลุกลามบานปลายจนสายเกินแก้

เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก่อน โรคข้อเสื่อม จะมาเยือน หรืออาการลุกลามบานปลายจนสายเกินแก้
วันที่ 27 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,290 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก่อน "โรคข้อเสื่อม" จะมาเยือน หรืออาการลุกลามบานปลายจนสายเกินแก้

หนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุคือ "โรคข้อเสื่อม" ซึ่งอัตราของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมหากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อาการของโรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ อาจทำให้เจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ส่งผลให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ไม่สะดวก เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

หากอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น "ข้อเสื่อม" เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือเกิดการสึกกร่อนบางลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมักจะเกิดกับข้อที่ต้องรองรับน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ฯลฯ โดยกระดูกอ่อนผิวข้อนี้จะถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จนมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างของข้อเข่า เกิดน้ำสะสมในข้อเข่าเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ข้อบวม พบกระดูกงอกผิดปกติที่ขอบหรือที่มุมข้อ พบกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อเข่าหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างจำกัด โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะรำคาญกับอาการปวด หรือไม่สบายตรงข้อที่เสื่อมในขณะที่ใช้งาน เช่น ขณะยืนหรือเดิน และอาการปวดนี้จะดีขึ้นเมื่อได้พักการใช้งาน รวมทั้งยังอาจพบอาการฝืดตึงที่ข้อเป็นช่วงสั้นๆ ในช่วงเช้า หรือ ภายหลังที่อยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ เช่น หลังจากนั่งขับรถนานๆ นั่งยองนานๆ ฯลฯ

 

ช่วงอายุที่มักเกิดภาวะข้อเสื่อม

มักพบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคน (40 ปีขึ้นไป) และจะพบโรคนี้มากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่าง เช่น อาชีพที่ทำงานหนัก ความอ้วน ฯลฯ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมความสมดุลของเซลล์กระดูกอ่อนได้ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาวะข้อเสื่อมในที่สุด ส่วนในวัยหนุ่มสาว เซลล์กระดูกอ่อนยังแข็งแรงและทนทานต่อแรงตึงแรงกดได้ดีกว่าผู้สูงอายุ

สาเหตุการเกิดข้อเสื่อม

  • ความเสื่อมของข้อที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย

พบข้อเสื่อมได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่อาจมีผู้สูงอายุบางรายที่ไม่เกิดภาวะข้อเสื่อม ส่วนใหญ่พบในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวกับฮอร์โมน รวมไปถึงผู้มีน้ำหนักตัวเกิน (อ้วน) ผู้ที่ทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเกิดจากความบกพร่องของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรงรวมทั้งเกิดจากกรรมพันธุ์

  • ความเสื่อมของข้อที่ทราบสาเหตุ

เป็นผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุจนมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น มีการใช้งานที่ข้อมากเกินไป เช่น อาชีพแม่บ้าน การเล่นกีฬา ฯลฯ นอกจากนี้ข้อเสื่อมอาจเป็นร่วมกับโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน ฯลฯ

  • การเกิดข้อเสื่อมในอาชีพต่างๆ

ข้อที่เสื่อม มักเป็นได้ทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็น ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อนิ้วมือ ข้อตะโพก ซึ่งในการเกิดนั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการใช้งาน ได้แก่ ผู้หญิง (แม่บ้าน) มีความเสี่ยงที่ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ผู้ชายมีความเสี่ยงที่ข้อตะโพก นักกีฬาเบสบอลมีความเสี่ยงที่ข้อไหล่ ข้อศอก นักวิ่งนักบาสเก็ตบอลมีความเสี่ยงที่ข้อเข่า นักยกน้ำหนักมีความเสี่ยงที่ข้อเข่า เป็นต้น
 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคข้อเสื่อม

ระยะแรก

อาการจะเริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เวลาเดิน โดยเฉพาะขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า ฯและอาการปวดจะดีขึ้นเมื่อได้พักการใช้ข้อ พบอาการฝืดตึง หรือขัดที่ข้อเป็นช่วงสั้น ๆ ในตอนเช้า หรือภายหลังที่อยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น หลังจากนั่งขับรถนาน ๆ นั่งพับเพียบ หรือคุกเข่านาน ๆ ฯลฯ พบเสียงดังกรอบแกรบภายในข้อขณะเคลื่อนไหวข้อเข่า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้น หรือเกิดจากความขรุขระของกระดูกอ่อนผิวข้อที่ถูกทำลายไป มักพบอาการข้อเสื่อมในข้อเข่าข้างที่ถนัดหรือข้างที่ใช้งานบ่อยก่อน ถ้าผู้ป่วยไม่ดูแลป้องกันต่อมาอีกไม่นาน ข้อเข่าอีกข้างก็จะเริ่มเสื่อมตามมา

ระยะรุนแรง

อาการปวดข้อจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเวลาเดินหรือขยับข้อ บางครั้งอาจพบปวดช่วงกลางคืน อาจคลำพบกระดูกงอกบริเวณข้างข้อ หรือที่ขอบมุมข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่ จะพบมีอาการปวดหรือเสียวที่กระดูกสะบ้า ถ้ามีอาการอักเสบที่ข้อจะทำให้ข้อบวมและร้อน แพทย์จะตรวจพบน้ำคั่งอยู่ในช่องว่างระหว่างข้อ ถ้าข้อเสื่อมมานาน จะทำให้การเหยียดข้อเข่า หรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุดนอกจากนี้อาจพบกล้ามเนื้อรอบข้อลีบลงหรืออ่อนแรง ข้อเข่าโก่ง ข้อเข่าหลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป จะทำให้การเดินและการใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่รพ. แพทย์จะฉายรังสี x – ray ภาพจากฟิล์ม x – ray จะเห็นช่องว่างระหว่างข้อจะแคบลง

แนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อม

แม้ว่าข้อเสื่อมจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม แต่ก็มีวิธีการรักษาหลากหลายวิธี ซึ่งเป้าหมายในการรักษาก็คือ พยายามลดอาการปวดอักเสบของข้อให้ทุเลาเร็วที่สุด รวมไปถึงการดูแลป้องกันข้อที่เริ่มเสื่อมไม่ให้เสื่อมมากไปกว่านี้ เพื่อให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

  • การรักษาด้วยยา มีหลายรูปแบบทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อ รับประทาน ยาบางตัวสามารถปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาได้ แต่บางตัวจะต้องจ่ายตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งเป้าหมายรักษาคือช่วยบรรเทาอาการปวดอักเสบ บวมที่ข้อให้หายเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานกับการปวด ช่วยควบคุมไม่ให้เป็นมากไปกว่านี้
  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา เน้นการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อให้ถูกหลัก การควบคุมน้ำหนัก การบริหารกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยพยุง เพื่อช่วยประคับประคองด้วยการลดแรงกดที่ข้อเท้า ร่วมกับการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น จะเป็นผลทำให้ร่างกายค่อย ๆ ซ่อมแซมส่วนของข้อที่เสื่อมไปได้ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีนั่ง นอน ยืน เดิน
  • การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมรุนแรง 

    วิธีดูแลร่างกายและข้อ

    มีวิธีดูแลร่างกายและข้อเพื่อช่วยให้ห่างไกลจากโรคข้อเสื่อม โดยคำแนะนำจากทีมเภสัชกร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์คุณภาพชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้

  • การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
  • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ไม่ทำอะไรที่ผิดท่า เช่น นั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น พับเพียบ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ นั่งหลังงอ ก้มคอทำงานนาน ฯลฯ
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อ ดังนั้นการที่จะเริ่มฝึกบริหารกล้ามเนื้อใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน และควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่มีผลเสียต่อข้อ เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน ฯลฯ
  • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมป้องกันข้อเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
  • แม้ว่าอาการของโรคข้อเสื่อมจะมีสาเหตุมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการใช้งานบริเวณข้อที่หนักเกินไป ซึ่งหากเกิดภาวะข้อเสื่อมแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะข้อเสื่อมได้เลยทีเดียว ดังนั้นเราจึงควรรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง เพื่อเป็นหลักประกันว่าในวันข้างหน้าเราจะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปนานๆ

    https://www.posttoday.com/life/healthy/593649?fbclid=IwAR34BUFQnjegkjUDsIoMORp8pQ_e5QG93Gt7NkTkrZzvPn4Oof_YNzz4yRs

คลังภาพ