4 เคล็ดลับ Social Distancing อยู่บ้านรับมือ Covid-19 ฉบับชาวสูงวัย โดยที่ไม่ต้องตัดขาดจากสังคม อยู่บ้านได้แบบไม่เหงาและปลอดภัยจาก Covid

4 เคล็ดลับ Social Distancing อยู่บ้านรับมือ Covid-19 ฉบับชาวสูงวัย โดยที่ไม่ต้องตัดขาดจากสังคม อยู่บ้านได้แบบไม่เหงาและปลอดภัยจาก Covid
วันที่ 1 พ.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,958 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

4 เคล็ดลับ SOCIAL DISTANCING: อยู่บ้านรับมือ COVID-19 ฉบับชาวสูงวัย

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ทางการแนะนำในช่วงเวลานี้ คือการงดออกไปนอกบ้านหรือไปอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก แต่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้านหรือพบปะเพื่อนฝูงอยู่ตลอด ทำให้เสี่ยงต่อการที่จะติดเชื้อได้ ‘Social Distancing’ หรือ ‘การรักษาระยะห่างทางสังคม’ จึงเป็นวลีใหม่ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ

4 เคล็ดลับดีๆ ในการรับมือ Covid-19 แบบฉบับชาวสูงวัย โดยที่ไม่ต้องตัดขาดจากสังคม อยู่บ้านได้แบบไม่เหงา และปลอดภัยจากเชื้อไวรัส จนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

1.เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

เทคโนโลยีทุกวันนี้พัฒนาไม่เคยหยุด ทำให้การติดต่อสื่อสารกันในโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถพูดคุยกันผ่านข้อความ หรือเห็นหน้าตาพร้อมเสียงสดๆ ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็น Line ที่ผู้สูงวัยหลายคนคุ้นเคย หรือจะเป็น FaceTime, Zoom, Skype และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้คือตัวเลือกสำหรับใช้ในการพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ฉะนั้นขอให้ลองศึกษาและเรียนรู้วิธีการใช้อยู่เสมอ

2. พักเสพข่าวบ้าง

การติดตามข่าวสารเป็นประจำ เป็นกิจวัตรที่ต้องทำอยู่เสมอในช่วงเวลานี้ แต่การเสพข่าวมากๆทุกวันอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลจนเกินไป และทำให้เสียสุขภาพจิตได้ เคล็ดลับง่ายๆ คือดูแค่อัพเดตข่าวรายวันในช่วงเช้า และฟังสรุปข่าวอีกครั้งในช่วงกลางคืนก็เพียงพอ แล้วใช้เวลาไปกับงานอดิเรกอย่างอื่นดีกว่า พยายามหลีกเลี่ยงข่าวด่วนหรือ Breaking News ระหว่างวัน รวมถึงระมัดระวัง Fake News หรือข่าวปลอมที่ส่งต่อๆ กันมา และหลีกเลี่ยงการเสพข่าวในโลกโซเชียลที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้องหรือไม่น่าเชื่อถือ

3. ไม่ขาดการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนสนิท

ในภาวะเช่นนี้ การมีครอบครัวหรือเพื่อนสนิทพูดคุยติดต่อกันอยู่ตลอด คือสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง เพราะฉะนั้นเครื่องมือติดต่อสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนจึงสำคัญ ทั้งการโทรศัพท์ กรุ๊ปไลน์ หรือแชตส่วนตัวต้องไม่พลาดทุกการติดต่อ เพราะการรักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ได้หมายถึงการต้องเลิกติดต่อสื่อสารกัน แต่หมายถึงการอยู่ห่างกันแค่กาย แต่การพูดคุยกันยังเหมือนเดิมนั่นเอง

4. ร่วมกิจกรรมจากที่บ้าน

การไปร่วมกิจกรรมขณะอยู่ที่บ้าน อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่จริงๆ แล้วด้วยเทคโนโลยีนี่เองที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมได้ผ่านทางหน้าจอ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนพร้อมอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมผ่านการ Live หรือถ่ายทอดสดได้แล้ว จะพูดคุยหรือพิมพ์ทักทายก็ทำได้เหมือนได้ไปร่วมกิจกรรมจริงๆ อย่างยังแฮปปี้เองก็มีกิจกรรมออนไลน์ผ่านทาง YouTube Live ทั้งกิจกรรมสอนใช้โซเชียล, สอนเล่น LINE, พัฒนาบุคลิกภาพ ให้เข้าร่วมสนุกทุกสัปดาห์ ห่างไกลจาก Covid-19 แต่มียังแฮปปี้อยู่ใกล้ชิดเหมือนเดิม