ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ สมุนไพรต้านโควิด-19 ณ ศพอส.จังหวัดนครพนม สนับสนุนโดยมูลนิธิศรีโคตรบูร
วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นางสาวอรอุมา อินทฉาย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ สมุนไพรต้านโควิด-19 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยชมรมคลังสมองจังหวัดนครพนมจัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับตัวแทนผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดนครพนม เกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพร ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพตนเองในภาวะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันโรคและลดภาระด้านการรักษา เนื่องจากปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการใช้สมุนไพรไทยในการต้านไวรัสโควิด-19 อย่างหลากหลาย และข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับการกลั่นกรองอย่างถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุข ถ้าประชาชนนำข้อมูลข่าวสารที่ได้ไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (อาคารเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณจัดโครงการโดยมูลนิธิศรีโคตรบูร สนับสนุนงบประมาณ 15,000.- บาท
และในวันนี้ผู้สูงอายุของจังหวัดนครพนมที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากคณะแพทย์ที่เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลนาหว้า ซึ่งจะมาถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น กระชาย ขิง ตะไคร้ มะนาว น้ำผึ้ง มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก รวมถึง คุณสมบัติ ประโยชน์และข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรแต่ละชนิด นอกจากนี้ยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการต้นสมุนไพรไว้รับประทานเอง ได้รู้ถึงแหล่งผลิตที่สำนักงานสาธารณสุขมีการส่งเสริมการปลูกและการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย covid 19 การส่งเสริมสมุนไพรกัญชา กัญชง กระท่อม แบบครบวงจร ที่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริหารจัดการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกในระบบปฐมภูมิ ที่กำลังผลักดันให้เป็น นครพนมโมเดลแพทย์แผนไทย 4.0 พัฒนาสู่สากล ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ปัจจุบันงหวัดนครพนมมีการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและมาตรฐานการผลิตสมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำที่มีระบบปลูกแบบโรงเรือนพื้นที่รวมกว่า 96 ไร่ครอบคลุมทุกอำเภอ ส่วนกลางน้ำก็มีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบ ที่ผ่านระบบ WHO-GMP มีตลาดกลางสมุนไพร มีการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิตสมุนไพร ขณะที่ปลายน้ำมีการบริการแพทย์แผนไทยแบบครบวงจร มีสินค้าสมุนไพร OTOP product champion มี T2C shop แสดงสินค้าสมุนไพรและมีเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้ การจัดประชุมโครงการดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา -19 อย่างเคร่งครัด