ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพดี

ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพดี
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 60,371 ครั้ง | โดย กพร.

ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพดี

การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าผู้สูงอายุสุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย แน่นอนเราในฐานะลูกหลานคงไม่สบายใจ และคงเป็นกังวลอย่างมากกับอาการเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับท่านเราคงไม่อยากเห็นพ่อ แม่ พี่น้องเราไม่มีความสุขในบั้นปลายชีวิต เราควรดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แข็งแรงตั้งแต่เนิ่นๆ

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีสุขภาพดี มีความสุขทั้งกายและจิตใจทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทั้งนี้บุคคลในครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจปัญหา เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

  1. การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นสำคัญอย่างไร?

  2. ดูแลผู้สูงอายุทำได้อย่างไร?

  3. วิธีจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ

  4. จัดโภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ

  5. ปัญหาและวิธีรับมือการดูแลผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นสำคัญอย่างไร?

take-care-of-senior-couple

เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง ผู้สูงอายุบางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เราเรียกว่าภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย ไม่มีแรง รวมทั้งน้ำหนักลดลงเอง บุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุหรือไม่ จากอาการที่จะยกมากล่าวต่อหลังจากนี้ หากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึงว่าผู้สูงอายุประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น

อาการที่อาจจะเกิดได้แก่:

  • รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
  • เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
  • รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
  • สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
  • เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที

อาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การแต่งตัว ตื่นนอน ลุกจากเตียง เดินเข้าห้องน้ำ หรือไปเที่ยวได้ลำบาก อีกทั้งอาจหกล้มได้ง่าย ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ภาวะดังกล่าวแย่ลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักมีโอกาสติดเชื้อ รวมทั้งฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บต่างๆได้ยาก ฉะนั้นบุคคลในครอบครัวจึงควรดูแลญาติผู้ใหญ่ของตนให้มีสุขภาพดีและถูกต้องตามหลักการดูแลผู้สูงอายุ

ดูแลผู้สูงอายุทำได้อย่างไร?

senior-with-good-care

การดูแลผู้สูงอายุ มีความจำเป็นและสำคัญมาก เราควรเอาใจใส่ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หลักในการดูแลผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และวิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุ

วิธีดูแลสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ การทำงานของร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประกอบด้วยการดูแลอวัยวะส่วนต่าง ๆ และจัดการเรื่องเข้ารับการตรวจและรักษาปัญหาสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือสถานอนามัยที่เชื่อถือได้ดังต่อไปนี้:

1). ดูแลสุขภาพดวงตา

  • ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาหรือวัดสายตา เพื่อตัดแว่นสายตาที่เหมาะสม รวมทั้งตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพตาหรือไม่ เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปในกรณีที่ดวงตาผิดปกติ
  • ไม่ควรให้ผู้สูงอายุสูบบุหรี่ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่เมื่ออยู่ใกล้ผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงเกิดจอตาเสื่อม หรือต้อกระจกได้
  • เตรียมผักและผลไม้ในแต่ละมื้ออาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
  • เมื่อต้องออกแดดจ้าควรเตรียมแว่นกันแดดให้ผู้สูงอายุได้สวมใส่เพื่อถนอมสายตา

2). ดูแลการได้ยิน

ดูแลให้ผู้สูงอายุเข้ารับตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน ภาวะสูญเสียการได้ยินนับเป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การสูญเสียการได้ยินส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ฟังหรือปฏิบัติตามคำแนะนำที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุไปตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุของการไม่ได้ยิน และเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

3). ดูแลสุขภาพช่องปาก

  • ผู้สูงอายุควรลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล รวมทั้งเลี่ยงรับประทานอาหารประเภทนี้นี้ก่อนเข้านอน เพราะน้ำตาลอาจเกิดการสะสมและกลายเป็นแป้งอยู่ในช่องปากและฟัน ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพปากและฟันเกิดขึ้น
  • ดูแลผู้สูงอายุให้แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
  • ผู้สูงอายุควรบ้วนน้ำลายหลังแปรงฟันทุกครั้ง โดยไม่ต้องบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทันทีที่แปรงฟันเสร็จ เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากอาจล้างฤทธิ์ฟลูออไรด์ของยาสีฟัน
  • ดูแลผู้สูงอายุไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมทั้งให้งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก และมะเร็งบางชนิดมากขึ้น
  • หมั่นให้จิบน้ำบ่อย ๆ อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาล หรืออมน้ำแข็งก้อนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันปากแห้ง

4). ดูแลสุขภาพเท้า

  • หมั่นล้างเท้าให้สะอาดทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ติดตามผิวหนัง อาจทำให้ระคายเคืองและติดเชื้อ ทั้งนี้ ควรเป่าเท้าและระหว่างนิ้วเท้าให้แห้งเพื่อป้องกันฮ่องกงฟุต
  • ทาครีมบำรุงเท้า เพื่อลดอาการหยาบกร้านของผิวหนัง โดยเลือกใช้ครีมสำหรับทาเท้าโดยเฉพาะ
  • หมั่นดูแลเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เดินได้สะดวก
  • เมื่อตัดเล็บ ควรเล็มเล็บเท้าตรงๆ ไม่ตัดเป็นมุม เนื่องจากอาจทำให้เล็บฝังอยู่ในเนื้อเท้า
  • ควรดูแลเท้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยอาจสวมถุงเท้าตอนนอน
  • ผู้สูงอายุควรเลี่ยงสวมรองเท้าที่แน่นเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเท้าไม่ได้ ทำให้เกิดตะคริวและชาที่เท้า
  • ผู้สูงอายุควรเลือกใช้รองเท้าที่ทำจากวัสดุหนังแบบนุ่มหรือมีความยืดหยุ่น เพื่อความสบาย คล่องตัว และควรเลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดีป้องกันการอับชื้น

5). ดูแลสมอง

  • ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารที่ดีและมีสารอาหารครบถ้วนให้รับประทาน ทั้งยังต้องรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพดีและแข็งแรง
  • ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มมากเกินไป
  • ผู้สูงอายุควรหมั่นตรวจเช็คสัญญาณชีพ ชีพจรการเต้นของหัวใจ และดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • จัดการให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ
  • หมั่นพูดคุยหรือพาผู้สูงอายุไปเที่ยวเพื่อสร้างความผ่อนคลาย หากิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ได้ใช้สมองเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หรือมีกิจกรรมใหม่ๆตามสมควร

6). ดูแลสุขภาพจิต

  • ชวนผู้สูงอายุพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ หรือติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ในกรณีที่ไม่ได้เจอกัน
  • สอนให้ผู้สูงอายุใช้งานอินเทอร์เน็ต และ social media เพื่อให้ท่านได้ทำกิจกรรมใหม่ๆในยามว่างที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก ทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ๆให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ
  • เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมหรือชุมชน เพื่อทำกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
  • วางแผนทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ท่านไม่เหงาและเกิดภาวะเครียด

Senior-couple-excising

7). กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย

  • พาผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคกระดูกผุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเสริมสร้างการนอนหลับ อารมณ์ และความจำ
  • กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ประมาณครั้งละ 30 นาที โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ฝึกออกกำลังกายอย่างง่าย โดยใช้เก้าอี้ช่วย
  • ลองให้ผู้สูงอายุถือของเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างตามสมควร
  • ชวนทำสวน ทำกิจกรรมเข้าจังหวะอื่นๆ หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการเดิน ขยับเขยื้อนร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี

 8). ดูแลปัญหาสุขภาพการปัสสาวะและขับถ่าย

  • ดูแลให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาการเกี่ยวกับปัสสาวะจะกำเริบได้หากดื่มน้ำน้อย
  • ลดปริมาณการดื่มชา กาแฟ โคล่า หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนและน้ำตาลที่เยอะจนเกินควร
  • ตรวจดูว่ายารักษาโรคที่ใช้อยู่ส่งผลต่อการขับปัสสาวะของผู้สูงอายุหรือไม่

วิธีจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ

สภาพแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุย่อมเกิดความปลอดภัยเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ไม่ระเกะระกะ ลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุได้ และยังเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีแก่ผู้อยู่อาศัย วิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  • จัดบ้านให้ปลอดภัย สะอาดสะอ้าน อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องเข้าถึงเพื่อไม่อับชื้น
  • ติดเครื่องส่งเสียงหรือสัญญาณเตือนภัยในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังบ่อย ๆ
  • ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟไว้ตามทางเดิน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว หรือบ้านที่ติดตั้งเตาแก๊สควรติดตั้งเครื่องจับควันและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งทดสอบการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
  • เลือกวัสดุสำหรับปูพื้นในห้องน้ำที่ไม่ทำให้ลื่นง่าย และควรทำราวจับไว้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกขึ้นและไม่หกล้ม
  • เก็บของให้เป็นระเบียบ ทำความสะอาด กวาดพื้นให้เรียบร้อย ไม่ทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได
  • ติดตั้งโคมไฟที่เปิด-ปิดอัตโนมัติใช้งานตอนกลางคืน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นเส้นทาง และเดินเข้าห้องน้ำหรือขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกสบาย
  • ม้วนสายไฟเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งตรวจสอบความชำรุดของเต้าเสียบและสายไฟอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าชำรุด ควรเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ป้องกันการเกิดอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ
  • ควรให้ผู้สูงอายุสวมรองเท้าสำหรับใส่เดินภายในบ้าน ไม่ควรให้สวมถุงเท้าเดินหรือเดินเท้าเปล่า
  • เสื้อผ้าที่ผู้สูงอายุสวมใส่ควรรัดกุม ไม่รุ่มร่าม เพื่อป้องกันเดินสะดุดหกล้ม

จัดโภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ

food-senior

  • ผู้สูงอายุควรรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน โดยเลือกผักและผลไม้สดสะอาด
  • ดูแลให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำระหว่างวัน
  • จัดอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา ที่สามารถย่อยได้ง่ายให้รับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
  • ควรดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียง อาทิเช่น รับแสงแดด ให้รับประทานอาหารเสริม เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสุขภาพดี
  • ลองให้ผู้สูงอายุรับประทานเครื่องดื่มพลังงานสูง อาทิเช่น นม และ Milk Shake หรือเครื่องดื่ม Smoothie(หวานน้อย) เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักตัวลดลง

ปัญหาและวิธีรับมือการดูแลผู้สูงอายุ

nurse-with-oldlady

ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุไม่ชอบให้ผู้ใกล้ชิดดูแลตนเอง เพราะอาจรู้สึกไม่ดีที่ต้องมาเป็นภาระให้สมาชิกในครอบครัว แถมยังต้องคอยช่วยเหลือในกิจกรรมสำหรับชีวิตประจำวันต่างๆ ผู้สูงอายุบางรายมีความกังวลเรื่องสูญเสียความเป็นส่วนตัวและต้องปรับการดำเนินชีวิตใหม่ที่ไม่คุ้นเคย บางคนมักมีความเป็นตัวของตัวเองและวิตกว่าตนเองจะกลายเป็นคนอ่อนแอที่ต้องยอมให้คนในครอบครัวมาดูแล

หรือในผู้สูงอายุบางท่านกังวลกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเสียเพิ่มสำหรับดูแลตนเอง ที่สำคัญ ผู้สูงอายุที่ขี้ลืมมักไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องได้รับการดูแล สาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา สมาชิกในครอบครัวและลูกหลานควรทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีรับมือ และแก้ปัญหานี้ให้ถูกต้อง อาทิเช่น พิจารณาว่าผู้สูงอายุนั้นจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านใดบ้าง รวมทั้งหาวิธีดูแลที่เหมาะสม ควรหาโอกาสพูดคุยกับผู้สูงอายุ โดยเลือกเวลาที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมจะพูดคุยกัน ซึ่งจะช่วยให้เปิดใจและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ควรให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำหรับการดูแลตนเอง เช่น เลือกบุคคลในครอบครัวที่ต้องการให้ดูแลโดยเฉพาะ หรือเลือกใช้บริการดูแลผู้สูงอายุในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่มีเวลาดูแล ลูกหลานควรอธิบายเหตุผลต่างๆให้ผู้สูงอายุเข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกวิธีดูแลนั้นๆ

สุดท้าย บุคคลในครอบครัวทุกคนควรช่วยโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุรับฟังถึงเหตุและผล ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญที่ต้องยอมรับการดูแลจากผู้อื่น แต่ถ้าผู้สูงอายุยังไม่เข้าใจและไม่ยินยอมให้ดูแล ลูกหลานไม่ควรรบเร้าหรือบังคับให้ผู้สูงอายุรับฟังเหตุผลต่างๆ โดยที่ยังไม่เปิดใจ ควรหาโอกาสที่เหมาะสมกว่าพูดคุยภายหลัง

สรุป: การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีประกอบด้วยการเรียนรู้และความเข้าใจวิธีดูแลที่ถูกต้อง โดยต้องใส่ใจการดูแลสุขภาพและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ การดูแลผู้สูงอายุมักมีปัญหาสำคัญที่บุคคลในครอบครัวต้องเตรียมรับมือคือ ผู้สูงอายุไม่ยินยอม และ ไม่ค่อยเชื่อฟังสมาชิกภายในครอบครัวเพื่อให้ดูแลตนเอง ฉะนั้นผู้ใกล้ชิดที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุและบุคคลในครอบครัวท่านอื่นควรทำความเข้าใจสถานการณ์แบบนี้ เพื่อหาสาเหตุและรับมือกับปัญหาดังกล่าว เพียงเท่านี้ผู้สูงอายุภายในครอบครัวของท่านก็จะมีสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและจิตใจ

อ้างอิงข้อมูลจาก: https://bit.ly/2xgg4rG