แนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใส ห่างไกลปัญหาสุขภาพจิต

แนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใส ห่างไกลปัญหาสุขภาพจิต
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 32,457 ครั้ง | โดย กพร.

วัยชราเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงตามอายุที่มากขึ้น รวมถึงอารมณ์และจิตใจที่ไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในจนนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาเรื้อรังอื่น ๆ ได้ วัยสูงอายุจึงถือเป็นวัยที่มีความเปราะบางและต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

สาเหตุของปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

  • การสูญเสียและพลัดพรากจากบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลอันเป็นที่รัก อาทิ คู่ชีวิต เพื่อน สมาชิกในครอบครัว
  • ความรู้สึกเศร้าและกังวลว่าตนเองจะถึงแก่ความตายในอนาคตอันใกล้
  • ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตเนื่องจากไม่ได้ทำงาน สภาวะทางการเงินที่เปลี่ยนไป การขาดรายได้ การสูญเสียสถานภาพและบทบาททางสังคม
  • การรู้สึกว่าตนเองต้องเป็นภาระ ความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ น้อยใจ กลัวถูกทอดทิ้ง ฟุ้งซ่าน
  • การคิดซ้ำ ๆ เกี่ยวกับเรื่องในอดีต อยากย้อนเวลาไปแก้ไขเหตุการณ์บางอย่าง
  • การเก็บตัว ปลีกวิเวก ไม่กล้าเข้าสังคม

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

  • ภาวะอารมณ์แปรปรวน
  • ภาวะเครียด วิตกกังวล
  • โรคจิตเภท
  • โรคสมองเสื่อม
  • กลุ่มอาการต่าง ๆ ของร่างกายที่ไม่พบพยาธิสภาพทางกาย หรืออาการหลงผิดคิดตนป่วย

วิธีสังเกตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อในบางราย
  • อาการง่วง เซื่องซึม นอนหลับมากกว่าปกติ หรือมีอาการนอนไม่หลับ ฝันร้ายติดต่อกันหลายคืน
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย หงุดหงิด เครียด ซึม ฉุนเฉียว วิตกกังวล
  • พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ซึมลงหรือแจ่มใสมากผิดปกติ พูดน้อยลงหรือพูดเยอะขึ้น เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • อาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่หาสาเหตุไม่พบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

แนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใส

  1. ให้ความรักและความอบอุ่น

หมั่นพูดคุย ใกล้ชิด ให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างเสียงหัวเราะ รวมถึงหาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น รับประทานอาหาร ทำบุญ ท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและมีความสำคัญ

  1. ให้เกียรติ

ระมัดระวังคำพูดและท่าทางที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ ไม่แสดงความรำคาญ ไม่ต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือจับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ผู้สูงอายุจะดื้อหรือเอาแต่ใจ

  1. ส่งเสริมให้เกิดความสงบภายใน

ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ ผ่อนคลาย และปล่อยวาง รวมทั้งสามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง รวมถึงเรื่องความตาย ผ่านการควบคุมลมหายใจ ฝึกคิดอย่างยืดหยุ่นและคิดแง่บวก

  1. ส่งเสริมความมีคุณค่าในตนเอง

ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยอาจปล่อยผู้สูงอายุพยายามช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่าย ๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน หรืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เกินกำลังและไม่เป็นอันตราย

  1. ฝึกระบบความคิด

ส่งเสริมความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ การฝึก การวางแผน และการแก้ไขปัญหาเพื่อชะลอความเสื่อมของสมองในด้านต่าง ๆ เช่น ฝึกการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ลองทำกิจกรรมด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด หรือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ

  1. ส่งเสริมการเข้าสังคม

ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือกลุ่มวัยอื่น ๆ เพื่อพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกผ่อนคลาย ลดปัญหาการเก็บตัวหรือปลีกวิเวกจากสังคม

  1. ผ่อนคลาย

ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อส่งเสริมความรู้สึกสนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า อาทิ การเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น เปตอง รำวง เต้นแอโรบิค เป็นต้น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายและลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

  1. ฝึกสมอง

เล่นเกมที่ช่วยฝึกฝนด้านความจำหรือฝึกสมองได้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา การจัดลำดับความคิด เช่น หมากรุก อักษรไขว้ ต่อคำ ต่อเพลง คิดเลข หรือการจดจำข้อมูลต่าง ๆ เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น

  1. เป็นที่ปรึกษา

สังเกตปัญหาและรับฟังความต้องการของผู้สูงอายุ หมั่นสอบถามสารทุกข์สุขดิบเสมอ แสดงความเห็นใจ เข้าใจ รับฟัง และให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึก ร่วมกันหาแนวทางในการปรับตัวกับปัญหา

  1. ส่งเสริมการออกกำลังกาย

ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลังวังชา สามารถตอบสนองความต้องการทางกายภาพได้อย่างเหมาะสมผ่านการฝึกกายบริหาร โยคะ รำมวยจีน หรือการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ ที่เหมาะสมวันละ 15-30 นาที

ผู้สูงอายุเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจจนอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา แต่หากลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมก็จะให้ปัญหาต่าง ๆ ทุเลาลง นำมาซึ่งความสุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัวต่อไป

อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม” เราเป็นบ้านพักผู้สูงอายุที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในรูปแบบเนอร์สซิ่งโฮมระดับพรีเมี่ยม มั่นใจได้ด้วยบริการบ้านพักคนชราและบ้านพักผู้สูงอายุที่ดูแลโดยทีมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ และพนักงานผู้ช่วยพยาบาลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่จะคอยดูแลผู้สูงอายุอย่างเอาใจใส่และใกล้ชิดแบบองค์รวม ช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความสุขและอบอุ่นเสมือนอยู่บ้าน

อ้างอิง https://1th.me/EcYPc