โมเดลดูแลผู้สูงอายุยากไร้ “Buddy Home Care” จับคู่ดูแลกัน สร้างงานสร้างรายได้ให้เยาวชนขาดโอกาส

โมเดลดูแลผู้สูงอายุยากไร้ “Buddy Home Care” จับคู่ดูแลกัน สร้างงานสร้างรายได้ให้เยาวชนขาดโอกาส
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,633 ครั้ง | โดย พีรพัฒน์ อินทร์อำนวย

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562 นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, คณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ และคณะกรรมการกำกับทิศทางการจัดสภาพแวดล้อมและพัฒนาบริการสาธารณะตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน, นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ ชุมชนหนองหอย เทศบาลตำบลหนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาเรียนรู้สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ “การสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คนพิการ และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน”

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุประมาณ 316,847 คน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งจังหวัด และคาดว่ามีผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงมากกว่า 50,000 คน ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และยังพบว่าผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ดังนั้น สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (มพส.) ดำเนิน “โครงการพัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคมบั๊ดดี้โฮมแคร์ ในการดูแลผู้สูงอายุ” (Buddy Home Care) โดยพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพที่เป็นเยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษา และให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบเสียค่าบริการให้บริการในพื้นที่นำร่องจำนวน 35 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แล้วนำผลกำไรมาตอบแทนสังคม โดยการดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชนร่วมกับโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

“โครงการฯนี้มุ่งเน้นเป้าหมายทางสังคม สิ่งแวดล้อมและการเงินไปพร้อม ๆ กันได้ โดยคัดเลือกเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุตามหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง โดยความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 30 คน สามารถประกอบอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยการดูแลและบริหารจัดการของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุในการหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้เยาวชนที่ขาดโอกาส และเป็นการดำเนินงานต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ยากไร้ ขาดคนดูแลก็จะได้รับการดูแลผ่านกลไกระดับชุมชนจากอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุได้พัฒนาศักยภาพไว้” นางภรณี กล่าว

นางภรณี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าของบัดดี้โฮมแคร์ส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ลดภาระพึ่งพิงจากครอบครัวได้บางส่วน ในขณะที่ผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชนที่โครงการฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่บัดดี้โฮมแคร์เข้าไปดูแล และให้ความรู้กับผู้ดูแลในครอบครัวจนมีความสามารถในการช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมมากขึ้น ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเอง หรือออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย การลงทุนในโครงการฯนี้ ถือว่ามีความคุ้มค่าอย่างมาก

นายสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ(มพส.) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการบั๊ดดี้โฮมแคร์ในการดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางขยายผลในระดับพื้นที่ที่มีความสนใจ และเกิดกลไกการดำเนินงานร่วมกันของชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเขตเมืองเชียงใหม่ (ช.อ.บ.) ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และโครงการบั๊ดดี้โฮมแคร์ โดยได้อบรมเสริมทักษะให้แก่อาสาสมัคร ช.อ.บ. จำนวน 13 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 560 คน มีการจัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในรูปแบบข้อมูลออนไลน์ด้วย Google Form และ Google Sheet ปั

จจุบันมีข้อมูลออนไลน์ จำนวน 214 คน และได้วิเคราะห์คัดเลือกผู้สูงอายุยากไร้ที่ต้องการการดูแลเฉพาะ จำนวน 20 ราย ในการทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Individual care plan) จากการดำเนินงานตามแผนดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล มีผู้สูงอายุจำนวน 5 ราย ที่สามารถแก้ปัญหาโดยการปรับสภาพแวดล้อมแวดล้อมที่อยู่อาศัย และฝึกทักษะให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องทุกข์ ปัญหาและสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ชุมชนวนาลี จากการบูรณาการร่วมกับงานส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน มีการดำเนินกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุยากไร้รวมทั้งสิ้น 1,743 คน โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวม 20 องค์กร

นายมานพ ตันสุภายน ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ร่วมแรง ร่วมใจ ผู้สูงวัยเบิกบาน” เน้นให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนเป็นพื้น ฐานรัฐบาลและท้องถิ่นให้การสนับสนุน และเกิดความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุในการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ(ป่าลาน) ตำบลหนองตองพัฒนา ได้ร่วมกับศูนย์พัฒนานวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ Universal Design Center : UDC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำองค์ความรู้และงานวิจัยด้านนวัตกรรมท้องถิ่น มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงให้ความรู้ คำปรึกษาในการปรับสภาแวดล้อมในชุมชน

เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ การจัดสภาพบ้านด้วยวัสดุท้องถิ่น ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพเป็นส่วนสําคัญสําหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเพราะอุบัติเหตุของผู้สูงอายุมักเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ตัวอย่างเช่น การเกิดอุบัติเหตุในบ้าน การหกล้ม เพราะเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่กีดขวางทางเดิน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มั่นคง ทางลาด ราวจับเพื่อพยุงตัวป้องกันการหกล้มฯลฯ

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งธนาคารอุปกรณ์เพื่อรวบรวมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ที่สามารถให้ผู้สูงอายุและคนพิการยืมได้ เช่น ไม้ยู้ สำหรับกายภาพแขน กะลาคู่นวดฝ่า เก้าอี้ยืดขาแขน อุปกรณ์บริหารข้อมือ และนวัตกรรมท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายในศูนย์ ได้แก่ เก้าอี้ไม้ไผ่สำหรับนั่งอาบน้ำ การออกแบบราวจับจากวัสดุท้องถิ่นเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้พิการและคนชราและอุปกรณ์กายภาพสำหรับทุกคน ซึ่งการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการนี้ช่วยให้ผู้สูงอายุและคนพิการ รวมทั้งครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย และมีความสุขมากขึ้นด้วย