การดูแลพิเศษผู้ป่วยเรื้อรัง และการจัดการ

การดูแลพิเศษผู้ป่วยเรื้อรัง และการจัดการ
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,686 ครั้ง | โดย กพร.

การดูแลพิเศษผู้ป่วยเรื้อรัง และการจัดการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

  1. ปัญหาด้านสังคม กล่าวคือไม่มีญาติพี่น้องลูกหลานดูแล ก็อาจจะส่วนน้อย ส่วนใหญ่ จะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ไม่มีผู้ดูแลที่ชัดเจน เนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่เครียด มีความกดดันมากระหว่างผู้ดูแล และผู้ถูกดูแล ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเสื่อมของสังขาร และเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ก่อให้เกิดความเครียด กดดัน ทำให้การดูแลผู้สูงอายุ ค่อนข้างห่างเหิน นอกจากนี้ผู้ดูแลยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในการดูแล ผู้สูงอายุ พอขาดความเข้าใจก็จะเกิดปัญหาอีกประการหนึ่ง ลูกหลานที่รับดูแลผู้สูงอายุ ใครรับดูแลก็คนนั้นตลอดไปไม่มีใครมาเปลี่ยนเวรอาจเป็นเพราะผู้สูงอายุติดที่ด้วยไม่อยากไปอยู่ที่อื่น ขณะเดียวกันลูกหลานที่ย้ายไปที่อื่นก็ไม่มีเวลา ดังนั้นผู้ดูแลก็จะอยู่โยงรับผิดชอบ 24 ชั่วโมง ก็จะเครียด กดดัน เป็นปัญหาด้านสังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ผู้สูงอายุไม่ค่อยเข้าใจสภาวะปัญหาของตนเอง อาจเป็นเพราะขาดความรู้ ท่านเคยทำอะไรมา ก็จะทำอย่างนั้นตลอด
  2. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในการดูแลผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งเป็นภาระให้ผู้สูงอายุ และลูกหลาน บางท่านมีสวัสดิการ มีบำนาญ บำเหน็จ ประกันสังคม ประกันชีวิต ฯลฯ แต่ไม่ได้มีทุกคน ผู้สูงอายุในครอบครัวธรรมดาที่มีรายได้พอใช้ไปวันๆ หนึ่ง จะไม่พร้อมเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะเป็นปัญหาเศรษฐกิจได้
  3. ปัญหาด้านกายภาพของที่อยู่อาศัย และชุมชน ที่อยู่อาศัยไม่ได้เตรียมการรองรับสำหรับผู้สูงอายุ บ้านที่ซื้อมาจากหมู่บ้าน ไม่มีราวจับสำหรับผู้สูงอายุ ไม่มีทางเดิน ทางลาดสำหรับผู้สูงอายุ ไม่มีที่ว่างสำหรับ ทำกิจกรรม แต่หมู่บ้านบางแห่งที่มีคุณภาพ ก็จะมีพื้นที่กลาง ซึ่งเคยเห็นผู้สูงอายุมาออกกำลังกาย ก็จะได้กำลังกลับคืน ได้พูดคุยซึ่งเป็นวิธีรักษาสุขภาพอย่างหนึ่ง

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. ควรนั่งคุยกันว่าใครจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ พอรับหน้าที่ต้องมีความเต็มใจ และความพร้อมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ มีบ้านที่ดีพร้อม แต่ถ้าไม่มีสังคมที่ดี ก็ไม่มีประโยชน์ ผู้สูงอายุก็จะเหงา สภาพจิตใจไม่ดี อารมณ์ไม่ดี สภาพทางกายภาพจึงน่าจะมาทีหลัง สภาพสังคม และเศรษฐกิจต้องพร้อมก่อน
  2. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเอง ควรมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะและพฤติกรรมของตัวเอง แต่จะให้ผู้สูงอายุมาเข้าใจตัวท่านเอง และผู้ดูแลคงจะยาก ให้เราเข้าใจ ท่านเข้าใจตัวเองคงจะง่ายกว่า เพราะเรายังสามารถหาความรู้ได้ง่ายกว่า และเตรียมใจพร้อมที่จะยอมรับหน้าที่ตรงนี้ไปเลย
  3. ควรผูกมิตรกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย เพื่อฝากฝังหากเกิดเหตุฉุกเฉิน


ปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ต้องเตรียมงบประมาณสำหรับดูแลผู้สูงอายุต้องคิด วางแผนไว้ใครจะแชร์กับใครบ้างต้องเตรียมแผน
ระยะยาวเพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ และให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ปัญหาทางด้านกายภาพ

  1. วางแผนเส้นทางการเข้าถึงที่สะดวกระหว่างที่พักอาศัยกับสถานบริการสาธารณสุขที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย เสื่อมสังขาร จำเป็นต้องคิดล่วงหน้าว่าจากบ้านไปโรงพยาบาล จะเดินทางไปอย่างไร ถ้าเร่งด่วนสุดขีดจะไปอย่างไร ไม่เร่งด่วนจะไปอย่างไร ต้องวางแผนไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน
  2. ติดต่อสถานบริการในละแวกบ้าน สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน
  3. เรื่องที่พักอาศัยผู้สูงอายุจะขึ้นลงไม่สะดวก เนื่องจากความเสื่อมของสังขาร ต้องนอนชั้นล่าง จึงต้องดัดแปลงห้องให้เหมาะสม สำหรับห้องนอน เลือกทำเลที่แดดลมดี เดินใกล้ห้องน้ำ เพราะผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำบ่อย ทางเดินจากที่พักไปห้องน้ำต้องสะดวก บริเวณภายในบ้านที่เป็นทางเดิน ต้องไม่ให้มีสิ่งกีด-ขวางใดๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตราย สะดุดลื่นล้ม ถ้ามีกำลังทางเศรษฐกิจ ก็ปรับปรุงให้เหมาะสม ที่นอนของผู้สูงอายุต้องพร้อมด้วยอุปกรณ์ ที่อำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ ยาต่างๆ ต้องใกล้ๆ ตัว ของใช้ส่วนตัวต่างๆ พื้นที่นอกบ้านก็ควรเตรียมไว้ตามอัตภาพ พื้นที่โล่งนอกอาคารควรเตรียมไว้ ควรสงบ ร่มรื่น พอเพียงกับการพักผ่อน อ่านหนังสือ

ประเด็นเรื่องของชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหลายคน องค์กรหลายองค์กร ซึ่งเป็นพื้นที่นอกอาคารเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ค่อนข้างจัดการยาก แต่เป็นสิ่งจำเป็น เราพยายามทำอะไรสำหรับคนหลายๆ กลุ่มมากขึ้น

แต่กลุ่มผู้สูงอายุควรจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ผู้บริหารควรให้ความสนใจ แปลงนโยบายให้เป็นรูปธรรม เช่น ในระดับชุมชนที่เป็นเพื่อนบ้าน ละแวกบ้านทำอย่างไรจึงจะมีพื้นที่ว่าง ให้ใช้ร่วมกันทุกวัย ใช้ออกกำลัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ จากละแวกบ้านไปสู่ระดับเมือง ควรต้องทำ เช่น คนที่ต้องวางผังเมือง คนที่ออกแบบเมืองต้องคิดร่วมกัน อาจจะร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ
และเอกชนในการจัดหาที่ว่าง พื้นที่หากิจกรรมเข้าไปให้ผู้รับผิดชอบออกแบบสำหรับผู้สูงอายุจะมีทางลาดอย่างไร แต่ต้องหาตำแหน่ง หาฟังก์ชั่น และกิจกรรมมาใส่ให้ได้ก่อน

ในการวางผังเมืองปัจจุบัน ทิศทางดีขึ้น มีการคำนึงถึงเรื่องต่างๆ มากขึ้น แม้กระทั่งผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนนัก ในการวางผังออกแบบเมืองตราด ได้เห็นความสำคัญนี้ และใส่แนวคิดสถาปนิก Universal Design ไปเป็นการออกแบบ ที่ใช้สำหรับคนทั่วไปทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เมืองร่วมกัน เป็นการลดปัญหาสังคมทำให้ผู้สูงอายุ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ต่อไป ทั้งอาคารและชุมชนบ้านและตัวเมือง ควรมีพื้นที่ว่างในทุกระดับ ควรให้ความสำคัญ กับคนทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ

แต่ปัญหาในเมืองคือขาดพื้นที่ว่าง เพราะพื้นที่หนาแน่น มีอาคารมาก ควรหาที่ว่างใช้ร่วมกันสำหรับทุกคนทุกวัย สำหรับพื้นที่ชนบทมีปัญหาต่างกัน เพราะพื้นที่ชนบทมีความหนาแน่นต่ำ ไม่ขาดที่ว่าง มีที่ว่างมากมาย

ปัญหาคือขาดโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน การบริการต่างๆ ถนนสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ดังนั้นการแก้ปัญหา ควรพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับ ผู้สูงอายุ และคนกลุ่มอื่นๆ

อ้างอิง http://hp.anamai.moph.go.th/soongwai/hhc/statics/hhc7/hhc711.php