การฝึกอาชีพสำหรับสังคมผู้สูงอายุ

การฝึกอาชีพสำหรับสังคมผู้สูงอายุ
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 10,157 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเตรียมการฝึกอาชีพสำหรับคนสูงอายุเป็นความจำเป็น เพราะการประกอบอาชีพหรือการมีงานทำ นอกจากจะเป็นการใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อการยังชีพและสร้างครอบครัวแล้ว ยังเป็นการสร้างเกียรติภูมิและคุณค่าให้กับผู้ทำงานและสังคมอีกด้วย”

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ยึดถือ การทำงานเป็นสำคัญ (Work-Oriented Society) การจัดการศึกษาในปัจจุบัน ไม่เฉพาะอาชีวศึกษา (Vocational Education) เท่านั้นที่ต้องการให้ผู้จบการศึกษาออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพตามที่ได้ศึกษามา แม้แต่การจัดการศึกษาประเภท Liberal Education ซึ่งมีกระบวนวิชาทางด้าน Liberal Arts จำนวน 7 สาขาวิชา ได้แก่ ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา การพูด เลข เรขาคณิต ดนตรี และดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาของพวกผู้ดีในสมัยก่อน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเครื่องประดับชีวิต ในปัจจุบันสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้การจัดการศึกษา ในปัจจุบันจึงเป็นการเตรียมบุคลากรเข้าสู่โลกของงานและอาชีพมากกว่าที่จะใช้ความรู้เป็นเครื่องประดับชีวิตอย่างแต่ก่อน

สังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย หมายถึง สังคมที่มีคนที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น และคนเหล่านั้นอาจจะถูกเลิกจ้างงานเพราะเกณฑ์ทางอายุที่กำหนดไว้เช่น 55 หรือ 60 ปี เป็นต้น แต่ในปัจจุบันความเจริญทางการแพทย์และลักษณะงานที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงไม่ต้องใช้แรงมากในการทำงานจึงไม่ทำให้ผู้ที่ทำงานมีร่างกายทรุดโทรมไปตามวัย อย่างมากเช่นแต่ก่อนคนที่เกษียณอายุราชการในบางตำแหน่งงานเป็นตัวอย่างที่ดี แม้มีอายุ 60 ปีแล้วยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้อย่างดีด้วยประสบการณ์และความรู้ที่มี อยู่ ถ้าสังคมไม่นำทรัพยากรบุคคลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ก็นับว่าน่าเสียดาย

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกอาชีพทำหลังจากที่ต้องออกจากงานที่เคยทำอยู่เพราะเกณฑ์อายุบังคับไว้จึงเป็นกระบวนการที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และอาจจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการมีชีวิตช่วงวัยที่เข้าสู่วัยชราในสังคมที่ยึดถืองานเป็นสำคัญนี้ได้ถ้าบุคคลสามารถเลือกอาชีพได้อย่างเหมาะสม บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จก้าวหน้าในอาชีพนั้นได้อีก แต่ถ้าเลือกอาชีพไม่เหมาะสม นอกจากจะไม่สามารถสนองความต้องการของตนเองและความภูมิใจในอาชีพตนแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลว และไม่สามารถปรับตัวเองเข้ากับอาชีพนั้นได้ ทั้งนี้รวมถึงทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการเริ่มต้นใหม่เท่านั้น

การจัดการศึกษาในโลกเสรีนิยมมีความโน้มเอียงในการผลิตผู้จบการศึกษาให้ไปทำงาน ในฐานะที่เป็นลูกจ้าง (Employees) มากกว่าที่จะเป็นนายจ้าง (Employers) ถึงแม้จะมีการตื่นตัวเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพอิสระ (Self-employed) ซึ่งจะสามารถสนองความต้องการของการมีอาชีพที่ตนเองปรารถนาได้มากกว่าการเป็น ลูกจ้างแต่ปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยการประกอบอาชีพอิสระรายย่อยมากนักโดยเฉพาะระบบทุนนิยมในโลก เสรีประชาธิปไตย การแข่งขันมีมากผู้ประกอบการรายย่อยมักเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังในการผลิตและการลงทุนสูงกว่า ระบบเสรีนิยมจึงมักถูกมองว่าเป็นระบบที่ทำลายผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการ พัฒนาผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องพัฒนาลักษณะเฉพาะที่จะสามารถอยู่ได้ในโลกของการแข่งขันเสรี เช่น การใช้ฝีมือและการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะขึ้นในการทำงานซึ่งจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้

การเลือกอาชีพ

การศึกษาเรื่องการเลือกอาชีพตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกามักจะเน้นการเลือกอาชีพของผู้ที่จบมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และผู้จบปริญญาซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี แต่ในปัจจุบันพบว่าการเลือกอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงและมีการตัดสินใจเลือกอาชีพได้ในทุกช่วงทุกวัยของชีวิตคนนอกจากนั้นยังมีการศึกษาและมักจะใช้เป็นข้ออ้างเสมอว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 หมายถึง วัย 40 ปีเป็นวัยที่จะเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองดีที่สุด

ประจักษ์พยานที่สำคัญได้แก่ หนังสือที่วางขายและได้รับความนิยมมากในตลาดหนังสือเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับ อาชีพของวัยผู้ใหญ่หลังอายุ 25 ปีไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีบทความในวารสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาชีพ และพฤติกรรมการทำงานมากมาย ทั้งวารสารวิชาการ และวารสารเพื่อบันเทิงทั่วไปอีกด้วย

ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเลือกอาชีพหรือเปลี่ยนอาชีพมีมากขึ้นจากเดิมเมื่อ 70 ปีก่อน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นได้แก่ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป (Life-Styles) โครงสร้างของครอบครัว (Family Patterns) การหย่าร้าง (Divorce Rate) สภาพเศรษฐกิจ (Economy) โอกาสในการศึกษา (EducationalOpportunities) การทำงานมากกว่าหนึ่งงาน (Dual Careers) การทำงานของสตรี (Working Women) และรวมถึงภาวะวิกฤติช่วงวัยกลางคน (Midlife Crisis) และการมีชีวิตที่ยาวขึ้น (Life Expectancy) สิ่งเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับการเลือกอาชีพโดยเฉพาะของผู้ใหญ่หลังวัย 25 ปีทั้งสิ้น

การเลือกอาชีพจึงไม่ยึดติดอยู่กับทฤษฎีดั้งเดิมที่นักจิตวิทยาอาชีวะในประเทศตะวันตกเคยใช้อธิบายการเลือกอาชีพของบุคคลซึ่งส่วนมากเป็นวัยก่อน 25 ปี ทฤษฎีเหล่านั้นได้แก่

1. ทฤษฎีวิเคราะห์ลักษณะและองค์ประกอบของบุคคล (Traitand Factors Theory)

2. ทฤษฎีการเลือกอาชีพของ Holland (Holland’sTheory of Vocational Choice)

3. ทฤษฎีการเลือกอาชีพของ Roe (Roe’sTheory of Vocational Choice)

4. ทฤษฎีการเลือกอาชีพของ Schaffer (Schaffer’s Theory of Vocational Choice)

อย่างไรก็ตามการเลือกอาชีพเป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งเท่านั้นในกระบวนการของการประกอบอาชีพของบุคคล ความสามารถในการเลือกอาชีพย่อมแตกต่างขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น สภาพครอบครัว ถิ่นที่อยู่ เพศ ความฉลาดค่านิยม และบุคลิกภาพ เป็นต้น

การตัดสินใจเลือกอาชีพที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ความสามารถในการเลือกมีปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นตัวแปรสำคัญและปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาในชีวิตแต่ละวัยแต่ละอย่างแตกต่างกันไป การทำความเข้าใจกับพัฒนาการด้านอาชีพโดยเน้นถึงพฤติกรรมด้านอาชีพในแต่ละวัย จะทำให้เข้าใจกระบวนการที่บุคคลได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองอิทธิพลของประสบการณ์ในวัยเด็ก การศึกษา และบุคลิกภาพที่มีต่ออิทธิพลและค่านิยมในการตัดสินใจเลือกอาชีพที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้

พฤติกรรมด้านอาชีพและการฝึกอาชีพ

การศึกษาด้านจิตวิทยาอาชีวะมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจกับ พฤติกรรมด้านอาชีพของบุคคลในแต่ละช่วงอายุการเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลในแต่ละช่วงของอายุจะสามารถทำให้การจัดการฝึกอาชีพสอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของบุคคลสามารถแบ่งการฝึกอาชีพตามลักษณะของพฤติกรรมในแต่ละวัยได้ดังนี้

1. Preparation Stage (14-24ปี) เป็นขั้นแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับงานและอาชีพตัดสินใจเลือกอาชีพที่ตนเองสนใจ พัฒนาความสามารถของตนเอง เข้ารับการศึกษาหรือฝึกอาชีพสมัครและเข้าสู่ภาวะของการทำงานหรือเลือก อาชีพอิสระ สำหรับโปรแกรมการฝึกอบรมได้แก่การฝึกอาชีพในขั้นนี้จะมีในระบบโรงเรียน โปรแกรมอาชีวศึกษาสามารถมีได้ทั้งในโรงเรียนมัธยมสายสามัญและสถานศึกษา วิชาชีพดำเนินไปจนถึงระดับปริญญา ผู้เรียนในระยะนี้ยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ทางอาชีพมาก่อนจึงเป็นการฝึกอาชีพของผู้เริ่มต้น

2. Establishment Stage (25-35 ปี) เป็นขั้นวางรากฐานการทำงานในองค์การพัฒนาความสามารถและมนุษยสัมพันธ์ เรียนรู้ความรับผิดชอบและการบริหาร ศึกษาต่อเพื่อความก้าวหน้าวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ หรือ แสวงหาอาชีพอิสระ การฝึกอาชีพในขั้นนี้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนจะเข้ารับการฝึกวิชาชีพนอกระบบโรงเรียนในการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการเปลี่ยนอาชีพกลับมาเรียนวิชาชีพอีกครั้งเป็นการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ประกอบอาชีพแล้วมีทั้งการพัฒนาอาชีพที่เป็นอยู่ และการฝึกอาชีพใหม่ การศึกษาส่วนมากจะอยู่นอกระบบโรงเรียน

3. Maintenance Stage (35-60 ปี) เป็นขั้นพัฒนาตนเองเพื่อให้คงสภาพของความมั่นคง ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมวางแผนการทำงานตามเป้าหมายขององค์การ การฝึกอาชีพในขั้นนี้ ผู้ที่อยู่ในวัยนี้ส่วนมากไม่ต้องการเปลี่ยนอาชีพแต่ต้องการพัฒนาความสามารถ ในการทำงานทั้งในด้านเทคนิคการทำงานและความสัมพันธ์ของบุคคลในองค์การจัดโปรแกรมการฝึกอาชีพให้มีประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพสูงสุด ส่วนมากเป็นการศึกษาวิชาชีพนอกระบบโรงเรียนซึ่งไม่รวมถึงการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

4. Retirement Stage (หลัง 60 ปี) ในขั้นนี้จะการคิดและต้องตัดสินใจจะทำงานเต็มเวลาหรือครึ่งเวลาแสวงหางาน อดิเรก หรืออาชีพอิสระ แสวงหาที่พึ่งตนเองยามชรา เตรียมแผนการสำหรับการมีชีวิตบั้นปลายการฝึกอาชีพในวัยนี้วิชาชีพที่ศึกษาจะมีเป้าหมายเพื่อเสริมรายได้หรือเป็นงานอดิเรกโดยกิจกรรมไม่ใช้กำลังมาก เป็นการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน

โปรแกรมการฝึกอาชีพให้บุคคลมีงานทำในฐานะของ “ลูกจ้าง” และ “เจ้าของกิจการ” จึงมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ผู้ที่อยู่ในช่วงของ PreparationStage ตอนต้นจะมีความสนใจในการประกอบอาชีพอิสระน้อยกว่าบุคคลที่อยู่ในระยะ PreparationStage ตอนปลาย ผู้ที่สนใจการประกอบอาชีพอิสระมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงของ Establishment Stage หลังจากนั้นความต้องการของบุคคลที่จะยึดอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลักจะลดลงแต่จะมีผู้ต้องการอาชีพอิสระเป็นอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นในระยะของ MaintenanceStage และ Retirement Stage

ผู้สูงอายุอยู่ในระยะ Retirement Stage เมื่อต้องออกจากงานประจำที่เคยทำมาตลอด นอกจากรายได้อาจจะลดลงแล้วรายจ่ายอาจจะมากขึ้นด้วย การฝึกอาชีพหรือหางานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึงป็นการสร้างคุณค่ากับทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/354621