"สร้างอาชีพให้วัยเก๋า" ลดปัญหาสุขภาพยั่งยืน

วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,446 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

"สร้างอาชีพให้วัยเก๋า" ลดปัญหาสุขภาพยั่งยืน

ในยุคปัจจุบันที่อัตราคนเกิดน้อยลง และประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว นโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมการลงทุนกับผู้วัย ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นแรงงานทดแทนคนวัยหนุ่มสาว ตลอดจนส่งเสริมมิติด้านจิตใจให้คนวัยเกษียณรู้สึกภูมิใจและมองว่าตัวเองมีคุณค่า อีกทั้งสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นเดียวกับคนวัยอื่นๆ ในงาน “Redesigning Thailand# 5 จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดประลองความคิด เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ระดับมหาวิทยาลัยได้ร่วมกลุ่มออกแบบและเสนอนโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ กลุ่ม “กองทุนพัฒนาวัฏจักรผู้สูงอายุใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ที่ประกอบด้วย พัชภูมิ ทุมสวัสดี, กรวิชญ์ อินทะวงษ์, รัฐพงษ์ หมะยุ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาบอกเล่าถึงนโยบายที่นำเสนอไว้น่าสนใจ

พัชภูมิ ทุมสวัสดี ตัวแทนกลุ่ม ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง ประกอบสังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมสูงวัยในอีกไม่ถึง 10 ปี รวมถึงกลุ่มวัยเรียน วัยทำงานหลายคนก็ตั้งเป้าที่จะไม่แต่งงานมีครอบครัว เหตุผลที่หยิบยกมาจึงทำให้สังคมไทยในอนาคตไม่เพียงขาดแรงงานคนวัยหนุ่มสาว แต่กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่ลำพัง อาจเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวอย่าง โรคซึมเศร้า หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้นถ้าคนกลุ่มสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและสามารถทำงานมีเงินเลี้ยงชีพ ก็จะช่วยลดปัญหาข้างต้นได้ แต่ทั้งนี้การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีรายได้โดยการจัดตั้งร้านค้าหรือร้านอาหารที่มีแรงงานเป็นผู้สูงวัยโดยเฉพาะ หรือกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ จ้างผู้สูงวัยเข้าทำงานเพื่อให้มีรายได้ โดยให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องเงินทุน ซึ่งอาจจะนำมาจากภาษีเงินบาป อาทิ ภาษีสุรา บุหรี่ และภาษีความงามต่างๆ โดยการตั้งกองทุนขึ้นมา และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลจัดการ เพื่อพัฒนาเงินทุนที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
    “ปัจจุบันนโยบายเพื่อผู้สูงอายุมีคนทำเยอะมาก แต่จะเป็นในแง่ของการที่เงินไปใช้จม หรือใช้ไปแล้วไม่มีรีเทิร์นกลับมา และเงินนั้นไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงมาคิดกันว่าทำอย่างไรที่ภาครัฐจะไม่ต้องไปกู้เงินจากที่อื่นเพื่อมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าว และผู้สูงอายุเองจะยังคงได้ใช้ประโยชน์ โดยใช้เงินภาษีจากสุรา บุหรี่ ตลอดภาษีความงาม อาทิ ธุรกิจการทำศัลยกรรมในบ้านเรา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้โครงการที่ภาครัฐสนับสนุนเลี้ยงตัวเองได้ เราจึงคิดนโยบายนี้มา โดยให้รัฐบาลลงทุนให้ก่อน และให้กองทุนนี้อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยการให้เงินสนับสนุน หรือจะเป็นหน่วยงานเอกชนที่เข้าทำตรงนี้ก็ได้เช่นกัน โดยมีภาครัฐอยู่เบื้องหลังด้านงบประมาณในรูปแบบของการให้กู้ยืมเงิน เพราะตอนนี้เรื่องของผู้สูงอายุทางกระทรวง พม.ทำอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ถ้าเอกชนเอาไปทำ ต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ้างผู้สูงอายุ และต้องทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และเมื่ออนุมัติเงินกู้ให้หน่วยงานที่ทำ (ภาคเอกชน) เราก็จะนำดอกเบี้ยและผลกำไร ที่ได้มาดำเนินงานในกองทุนสำหรับผู้สูงอายุต่อไปเรื่อยๆ”
    พัชภูมิ บอกว่า เหตุผลหลักที่นำเสนอนโยบายดังกล่าว ก็เป็นเพราะว่า เนื่องจากมองว่าผู้สูงอายุมีคุณค่าในตัวเอง และประชากรของผู้สูงอายุ ในคนจำนวน 60 ล้านคนทั่วประเทศ ยังไม่ได้เข้าถึงระบบสวัสดิการสุขภาพที่ดีพอ นโยบายดังกล่าวจึงเป็นการสร้างระบบการทำงานร่วมกัน
    “ทำไมเป็นมีนโยบายดังกล่าวเพื่อผู้สูงอายุ คือกลุ่มของผมมองว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีลูกหลานดูแล และลูกหลานก็ไม่ว่าง ต้องออกไปทำงาน ในอนาคตเพื่อนผมหลายคนก็มองว่าคงจะไม่มีครอบครัว และไม่ต้องการมีลูก แต่การอยู่คนเดียวนั้น เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงจำเป็นต้องทำให้เขามีความหมายในการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งงานตรงนี้จะทำให้เขามีเพื่อน มีเงินใช้ และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินมาใส่ให้อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นระบบที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง คิดว่านโยบายความโดดเด่นของนโยบายสาธารณะดังกล่าวสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และครอบคลุมทั้งมิติ มันสามารถดูแลปากท้องคนชราได้ และมิติทางจิตใจคือ มันทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกภูมิใจและมีคุณค่าในตัวเองครับ”

 ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า “เราจัดเวที “ Redesigning Thailand# 5 จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” มาช่วยกันออกแบบประเทศไทยใหม่กันอีกครั้ง โดยมีหัวข้อสำคัญคือ “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” เพราะประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวในอีกไม่เกิน 7-8 ปีนี้ จึงเกิดคำถามว่าประเทศไทยพร้อมรับนี้เรื่องนี้หรือยัง เมื่อพูดถึงสังคมสูงวัยนั้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตช้า จะมีปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล หรือมีปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาบำเหน็จบำนาญ หรือเงินไม่พอใช้ ฉะนั้นภาพที่คนมองสังคมสูงวัยคือ ภาพของการหดหู่ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น เนื่องจากมีเวลา 7-8 ปีในการออกแบบดีๆ เพื่อทำให้สังคมสูงวัยมีความกระปรี้กระเปร่า ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่เราออกแบบนั้น แม้ว่าเราจะมีข้อมูล และมีความรู้อยู่ แต่ก็อยากเชิญชวนคนจำนวนมาก ที่สักวันจะต้องอยู่กับสังคมผู้สูงวัย ก็คือคนรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน จึงจัดรายการนี้ “Redesigning Thailand# 5 จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยการพาน้องๆ มาช่วยกันคิดโจทย์สังคมผู้สูงวัย ซึ่งเราก็ได้ความคิดและได้ไอเดียใหม่มาเยอะ เนื่องจากน้องก็มีความคิดสร้างสรรค์ และมีการหาข้อมูลที่น่าสนใจ 
    สิ่งที่น้องๆ จะได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือได้รางวัล และเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เขาได้ลองดูว่า การมาทำงานด้านนโยบายเป็นสิ่งที่เขาสนุกและอยากทำหรือไม่ ถ้าเขาสนุกและอยากทำ ก็สามารถมาลองฝึกงานกับทีดีอาร์ไอได้ เพราะน้องๆ จะได้ทดลองแก้โจทย์จริง ข้อมูลจริง ในโลกของความจริง และหวังว่าจะเกิดการปฏิบัติจริงในอนาคตครับ”.

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/23375