NEA เปิด 5 กิจกรรมเสริมทักษะอาชีพชาว 60+ สู่การเป็นผู้สูงวัยที่กาลเวลาก็ทำอะไรไม่ได้
สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA จัด 5 กิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เผยล่าสุดไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 10.5% คาดปี 64 จะสูงถึง 20% พร้อมลุยโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” มั่นใจช่วยเสริมแกร่งผู้สูงวัยได้เต็มประสิทธิภาพ
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA ) กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพบว่าในปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 10.5 ซึ่งในปี 2564 จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยการทำการค้าออนไลน์ให้กับกลุ่มสูงวัยด้วยโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” สำหรับหลักสูตรนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีความสนใจด้านการค้าออนไลน์ มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออก เข้ามาร่วมพัฒนาแนวคิดทั้งด้านการตลาด เทคนิคการทำธุรกิจใหม่ๆ การใช้โซเชียลมีเดีย การรู้จักรูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และยังเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการจ้างงานให้มีทิศทางที่ดียิ่งกว่าเดิม
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องส่งเสริมความสามารถ และยกระดับคุณภาพชีวิตไม่แพ้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลที่กำลังเจริญรุดหน้าในทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ สำหรับการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวไม่เพียงแต่จะกระทำได้ในเรื่องการค้ายุคใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในอีกหลากหลายด้าน เช่น การดูแลสุขภาพ การสร้างสังคมออนไลน์ การรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง การใช้เทคโนโลยีป้องกันอุบัติเหตุ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้เป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายภาคส่วนควรมีการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
และเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวรุ่นใหญ่ให้แฮปปี้ ทางสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่จึงจัด 5 กิจกรรมสำหรับชาว สว.(สูงวัย) ได้แก่
1. เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ โดยสถานที่ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้นั้นมีหลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ โบราณคดี มรดกโลก พิพิธภัณฑ์มีชีวิต พิพิธภัณฑ์ที่จำลองเอาชีวิตคนเมืองหรือวิถีชุมชน หรือแม้แต่การไปห้องสมุดอ่านหนังสือก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุส่วนมากมักจะเกิดภาวะ “ความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์” ดังนั้นการกระตุ้นสิ่งใหม่ๆ หรือการกระตุ้นการคิด การอ่าน เพียงวันละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์จะเป็นการกระตุ้นให้สมองได้ทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถลดภาวะการเกิดอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี
2. เป็นอาสาสมัคร ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เกษียณและมีความรู้ติดตัวมาในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย โดยการเป็นอาสาสมัครจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ถนัดและเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังถือว่าเป็นอีกกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น การเป็นวิทยากรด้านวิชาการ อบรม การสอนทำอาหาร เย็บปักถักร้อย งานฝีมือต่างๆ ทั้งนี้ ข้อดีของการเป็นอาสาสมัครนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้แก่คนรุ่นหลังได้ เพราะผู้สูงอายุส่วนมากจะมีภาวะเครียด และไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเนื่องจากสูญเสียสถานภาพทางสังคมไป
3. ฝึกเล่นโซเชียลและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และรู้ช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) เฟซบุ๊ก (FACEBOOK) หรือยูทูป (YOUTUBE) นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีใช้โซเชียลและอินเทอร์เน็ตยังเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้กันได้ง่ายๆ โดยการสอนของลูกหลาน หรือโรงเรียนสอนผู้สูงอายุที่มีระยะเวลาการเรียนสั้นๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันโลกโซเชียลแล้ว การใช้อินเทอร์เน็ตยังเป็นกิจกรรมคลายเหงา และเป็นการหาความสุขได้ง่ายๆ ด้วยตนเองโดยที่ไม่รบกวนผู้อื่น
4. การทำอาชีพเสริม แม้หลายคนจะมองว่าผู้สูงวัยเมื่อถึงวัยเกษียณจะต้องหยุดทำงานและพักผ่อนอยู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าวัย 60+ ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่หลากหลาย รวมทั้งยังคงมีศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่ดีเยี่ยม สำหรับการทำอาชีพเสริมในกลุ่มผู้สูงวัยนั้นสามารถทำได้ทั้งงานที่แต่ละบุคคลถนัดอยู่เป็นทุนเดิม เช่น การเป็นติวเตอร์ การดูแลเด็ก การเป็นที่ปรึกษา การอาศัยความสนใจส่วนตัวหรือความสามารถพิเศษ เช่น การค้าขายอาหาร การทำเบเกอรี การเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่กระทั่งการอาศัยบริบทจากสภาพแวดล้อมหรือสิ่งรอบตัว เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น
5. การเข้าร่วมอบรมเวิร์กชอป การเข้าโครงการอบรม หรือเรียนฝึกอาชีพในระยะสั้นๆ ถือเป็นข้อดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้เปิดโลกการปฏิบัติตนหรือแนวทางการทำอาชีพใหม่ๆ โดยใช้ระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน
หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจและจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือ “โครงการ 60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) นับเป็นโครงการแรกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการวัย 60+ ได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายออนไลน์ครบวงจร เช่น การทำโฆษณา เทคนิคการถ่ายภาพและแต่งภาพอย่างง่าย ขั้นตอนการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม พร้อมเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสการขายสินค้าออนไลน์ได้จริง ด้วยการมีหน้าร้านง่ายๆ ภายใต้เว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com) และอาลีบาบาดอทคอม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในวัย 60+ รู้จักกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จำเป็น แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่ใช้สำหรับแต่งภาพสินค้า พร้อมนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
ที่มา : https://mgronline.com/smes/detail/9620000075013