ปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ
ปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สิ่งที่อาจปฏิเสธไม่ได้เลย คือ ปัญหาเรื่องการนอนหลับ ผู้สูงอายุหลาย ๆ คนต้องถูกปัญหาเหล่านี้รบกวนชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา ทำให้การใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันเป็นไปอย่างขาดประสิทธิภาพ ง่วง นอนหลับในเวลากลางวัน รู้สึกไม่สดชื่น บางครั้งมีอาการปวดศีรษะอยู่ตลอดเวลา บางคนรู้สึกหนัก ๆ บริเวณศีรษะทั่ว ๆ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจก่อให้เกิดความกังวลเวลาเข้านอน กลัวว่าจะนอนไม่หลับ บางคนต้องพึ่งยานอนหลับ นับเป็นจุดเริ่มต้นของ “การติดยานอนหลับ” ลักษณะทางสรีรวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในเรื่องการนอนหลับของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
- ใช้เวลานานกว่าเดิมในการเริ่มต้นนอนหลับ เมื่อหัวถึงหมอนแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะหลับจริง ๆ
- การนอนหลับจะมีประสิทธิภาพลดลง เช่น ตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ ตื่นเช้ากว่าที่ควรจะเป็น ง่วงหลับ หรือสัปหงกในช่วงกลางวันบ่อยขึ้น
มีนักวิจัยหลายท่านเริ่มตั้งคำถามว่า การที่ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สาเหตุเกิดจากอายุที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ายังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่เมื่อหัวถึงหมอนแล้วนอนหลับปุ๋ยไปอย่างง่ายดาย คำตอบคือ “ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจน” อย่างไรก็ตามมีหลายคนที่ตั้งคำถามเหล่านี้ และพยายามค้นหาว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้การนอนหลับ “ไม่ง่าย” สำหรับใครหลาย ๆ คน
ปัจจัยที่ทำให้หลับยาก
- โรคของการนอนหลับโดยตรง
- การเปลี่ยนแปลงนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน
- โรคทางอายุรกรรมและโรคทางจิตเวชบางอย่าง
- ยาที่รับประทานอยู่
- โรคความจำเสื่อมในผู้สูงวัย
- นิสัยการนอนที่ไม่ดี
ในที่นี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่หลายคนไม่เคยทราบหรือมองข้ามไปมากที่สุด ก็คือ โรคของการนอนหลับโดยตรง ซึ่งมีหลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้
- โรคหยุดหายใจในขณะหลับ (Sleep-disordered breathing)
ภาวะการหยุดหายใจในขณะหลับพบส่วนใหญ่ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอาการแสดงมักมาด้วยอาการ 3 แบบหลัก ๆ คือ
- นอนกรนมาก
- ง่วงหลับในเวลากลางวัน รู้สึกไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน
- หายใจลดลง บางครั้งมีการหยุดหายใจในขณะหลับ โดยแต่ละครั้งที่หยุดหายใจนั้น ใช้เวลาอย่างน้อย ครั้งละ 10 วินาที เป็นต้นไป
หากจำนวนครั้งของการหายใจลดลงหรือหยุดหายใจขณะหลับต่อชั่วโมง มีจำนวนมากกว่า 15 ครั้ง (Apnea-hypopnea index ; AHI) หรือ AHI มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ครั้ง ร่วมกับมีอย่างน้อย 1 อาการที่แสดงถึงการมีความผิดปกติในการนอนหลับดังที่กล่าวมาข้างต้น จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งการวัดค่าAHI ดังกล่าวจะใช้เครื่องมือเฉพาะที่เรียกว่า Polysomnography การหยุดหายใจขณะหลับนั้นจะส่งผลให้เกิดการลดลงของปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในตอนเช้า รู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่เพียงพอ ง่วงในเวลากลางวัน สมาธิและความจำลดลง การตอบสนองช้าลง เป็นต้น หากอาการเป็นเรื้อรังจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับแบ่งตามสาเหตุเป็น 3 แบบหลัก ๆ ได้แก่
- โรคหยุดหายใจขณะหลับจากความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการด้านการหายใจ (central sleep apnea)
- โรคหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (obstructive sleep apnea) อาการเด่นมักเป็นการกรน หรือการสำลักขณะหลับ ซึ่งแสดงถึงว่ามีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอยู่ ทำให้เมื่อตื่นนอนมาในตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่นและง่วงหลับในตอนกลางวันบ่อย ๆ นอกจากนั้นผู้ป่วยยังอาจมีพฤติกรรมแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เช่น ลุกมาเดินหรือรับประทานอาหารแปลก ๆ ทั้งที่หลับอยู่ ขากระตุก หรือทำกิจกรรมตามความฝัน การกรนในขณะนอนหลับนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ
- โรคหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากทั้งความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการด้านการหายใจและการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (mixed sleep apnea) ซึ่งสาเหตุของโรคหยุดหายใจในขณะหลับมีดังต่อไปนี้
– น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและโรคอ้วน เนื่องจากไขมันที่มากขึ้นจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การที่รูปร่างผอมก็อาจทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน
– การสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองต่อช่องปากโดยรวมและสารนิโคตินในบุหรี่ยังทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลางอีกด้วย โดยคนที่สูบบุหรี่นั้นจะเพิ่มอัตราการเกิดการหยุดหายใจขณะหลับเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
– การดื่มสุราและการใช้ยานอนหลับ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการหย่อนและคลายตัวของกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้ส่งเสริมการอุดกั้นของทางเดินหายใจมากขึ้น
– ลักษณะทางกายวิภาคของคางและใบหน้า เช่น หากผู้ป่วยคางเล็กหรือคางหลุบก็จะทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายขึ้น
– อายุที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนมากมักเกิดบ่อยขึ้นในช่วงอายุ 60 – 70 ปี เมื่ออายุเพิ่มขึ้นโอกาสเกิดภาวะการหยุดหายใจในขณะหลับจะเพิ่มตาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยานั้นส่งเสริมการเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้น เช่น ไขมันที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรวมลดลง การเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายวิภาคของทางเดินหายใจ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น การลดลงของฮอร์โมนไทรอยด์และการลดลงของปริมาตรปอดโดยรวม
– ต่อมอะดีนอยด์หรือต่อมทอนซิลโตผิดปกติ รวมถึงลักษณะของเยื่อบุโพรงจมูกและผนังกั้นโพรงจมูกที่ผิดปกติ
– การเข้าสู่วัยทอง เมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยปกติแล้วในช่วงก่อนหมดประจำเดือนฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะทำงานสอดคล้องกันอย่างสมดุลเพื่อให้การนอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อหมดประจำเดือนแล้วระดับฮอร์โมนทั้งสองจะขาดความสมดุลซึ่งกันและกัน ทำให้การนอนหลับไม่ราบรื่นเหมือนเดิม
– โรคทางอายุรกรรมอื่น ๆ เช่น หัวใจวาย น้ำท่วมปอด ไตวายเรื้อรัง ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด พังผืดในปอด โรคอะโครเมกกะลี เส้นเลือดตีบหรือแตกในสมอง
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก ถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากในปัจจุบัน
2. การผ่าตัดรักษาลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติของทางเดินหายใจและกระดูกใบหน้าโดยรวม (ปัจจุบันประสิทธิภาพน้อยกว่า 50 %) แนะนำใช้ในรายที่เป็นน้อย หรือมีเฉพาะนอนกรน 3. การใส่อุปกรณ์ที่ป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจในปาก (ปัจจุบันประสิทธิภาพน้อยกว่า 50 %) แนะนำใช้ในรายที่เป็นน้อยหรือมีเฉพาะนอนกรน หรือมีหยุดหายใจเฉพาะนอนหงาย 4. การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การหยุดบุหรี่ สุรา การลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงหลับ การปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น หลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยอาจใช้เทคนิคการเย็บกระเป๋าเล็ก ๆ ไว้บริเวณด้านหลังเสื้อที่สวมใส่เวลานอนแล้วใส่ลูกเทนนิสลงไป เพื่อป้องกันการนอนหงาย เป็นต้น