โครงการเสริมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงวัย

โครงการเสริมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงวัย
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 9,137 ครั้ง | โดย พีรพัฒน์ อินทร์อำนวย

โครงการเสริมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงวัย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

1.  หลักการและเหตุผล                                   

                      สังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ด้านหนึ่งก็ส่งผลดีต่อการพัฒนาแต่อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งปัญหาสังคมอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังแผ่ขยายไป  ทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมไปถึงปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่นับวันจะพอกพูนขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ได้ให้ความสำคัญเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม อันเป็นทุนทางสังคมที่มีค่าในอันที่จะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติ   ภูมิปัญญาต่างๆ มากมายที่สั่งสมในรูปแบบของการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่มีการถ่ายทอดจากบุคคลในครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยมีผู้สูงอายุทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ และสืบเนื่องไปสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555–2559) ซึ่งเป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบ   จากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ    ด้วยฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตร   ต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการพัฒนาพื้นที่ ภารกิจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา   เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากนโยบายการวางแผนประชากรและการวางแผนครอบครัวที่ประสบผลสำเร็จในอดีต รวมถึงการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาวขึ้น โดยอายุคาดหมายเฉลี่ยเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรซึ่งจากผลสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุ    มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเรื่อยมา จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด มีผู้สูงอายุจำนวนประมาณ    3.4 ล้านคน หรือร้อยละ 6.1 ในปี 2533 จำนวน 5.5 ล้านคน หรือร้อยละ 9.0  ในปี 2543 จำนวน 6.3 ล้านคน หรือร้อยละ 9.8 ในปี 2548 และยังมีการคาดประมาณด้วยว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากเป็นลำดับ ที่ 5 ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 13.9 ล้านคน และคาดว่าในปี 2570 จะเพิ่มเป็นประมาณ 17.8 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 25 (ประมาณ 1 ใน 4) ของประชากรไทยทั้งประเทศ

ผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคมและประเทศชาติ เป็นต้นทุนทางสังคม   ที่มีค่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่นับถือผู้สูงอายุในฐานะผู้มีประสบการณ์มาก่อน และเป็นผู้สั่งสมภูมิปัญญาของท้องถิ่นในด้านต่างๆ เพื่อสืบทอดถึงบุคคลรุ่นหลัง นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานที่คอยให้ความอบอุ่น คำแนะนำสั่งสอนแก่บุคคลรุ่นหลังในครอบครัว โดยในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตลอดจนวิทยาการสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้ประชากรไทย มีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง และประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ดี และสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่าแม้ว่าจะอยู่ในวัยสุดท้ายของช่วงชีวิตก็ตาม ผู้สูงอายุก็ยังจัดได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่เป็น พลังสำคัญ แทนที่จะเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคม

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรวัยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง ได้มีการตรากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมีการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ พร้อมทั้งกำหนดกลไกและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ครอบคลุมการพัฒนาผู้สูงอายุในทุกๆด้าน เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นสมาชิกในสังคมที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ทั้งในด้านภูมิความรู้ และประสบการณ์การดำเนินชีวิต  ที่มีศักยภาพ มีความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง สามารถชี้แนะลูกหลาน คนในสังคม ในชุมชนให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของสังคมไทยมีการหยิบยกขึ้นมาส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกหลาน หรือเยาวชนคนรุ่นหลังในสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาแล้ว ผู้สูงอายุยังเป็นวัยที่มีความเป็นอิสระมากกว่าช่วงวัยอื่นของชีวิต สามารถเลือกทำในสิ่งที่เหมาะสมตามที่ตนเองปรารถนา เนื่องจากลูกหลานเติบโต มีการมีงานทำแล้ว ย่อมหมดภาระที่หนักหน่วง ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ    มีโอกาสได้แสดงศักยภาพ ภูมิความรู้ที่เป็นการบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ผู้สูงอายุยังสามารถดูแลตนเอง   ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ให้เกิดภาระแก่ครอบครัว และสังคม จึงนับเป็นการสร้างสังคมที่มีคุณภาพอีกทางหนึ่งด้วย

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม ในส่วนประชากรผู้สูงอายุตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อบต.ในปี พ.ศ.2557 มีประชากรผู้สูงอายุ 250 คน และในปี พ.ศ.2558 มีประชากรผู้สูงอายุ 273 คน คิดเป็นร้อยละ 11.90 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังมากขึ้น เช่นเดียวกับสังคมโดยทั่วไป ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม ได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ จัดงานวันผู้สูงอายุ การสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การตรวจสุขภาพประจำปีผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้มากกว่าที่ผู้สูงอายุจะมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจในการจัดสวัสดิการของตนเอง การจัดบริการสวัสดิการผู้สูงอายุ ยังขาดฐานคิดที่จะไปสนับสนุนหรือส่งเสริมฐานวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งๆที่การส่งเสริมภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจและเป็นการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองของผู้สูงอายุให้สูงขึ้น อีกทั้งยังขาดการกระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการด้านสวัสดิการโดยชุมชนเอง จึงทำให้ขาดพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ ขาดการส่งเสริมโอกาส   ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม ในการคิด ตัดสินใจเรื่องสวัสดิการของตนเอง จึงทำให้ตกอยู่ในสภาพที่เป็นฝ่าย“รอรับ”   ผลของการพัฒนามากกว่าจะเป็นฝ่ายคิดและกำหนดการจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบบริการจึงกลายเป็นงานตั้งรับมากกว่าเชิงรุก งานสวัสดิการผู้สูงอายุจึงกลายเป็นงานที่มีลักษณะประจำนิ่งมากกว่างานบริการเชิงยุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวโดยภาคประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนา   เชิงกระบวนการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีความเป็นเอกภาพจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่สามารถพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองของชุมชนและมีความยั่งยืนต่อไป

2.  วัตถุประสงค์

                    1.  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ

                    2.  เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสในการถ่ายทอดภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชน

                    3.  เพื่อจัดทำข้อมูลทำเนียบภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ประชาสัมพันธ์ให้สังคม ชุมชน ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุ

3.  กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ 

                   กิจกรรมที่ 1  ผู้สูงอายุ และแกนนำชุมชนตำบลบ้านแหลม   จำนวน   40  คน

                   กิจกรรมที่ 2  ประชาชนตำบลบ้านแหลมที่มีความสนใจ  จำนวน   20  คน

                   กิจกรรมที่ 3  นักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนในเขตพื้นที่ (โรงเรียนมิตรภาพที่ 34)

4.  วิธีการดำเนินการ

                   1.  ประชุมแกนนำที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและจัดทำโครงการเพื่อเสนอของบประมาณ

                   2.  ประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ ประสานประธานชมรมผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านเพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการและคัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงาน

                   3.  จัดอบรมโดยคณะวิทยากรนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอภิปรายกลุ่ม เพื่อให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต และรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นทะเบียนภูมิปัญญาผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

                   4.  จัดอบรมการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา โดยเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติกำหนดระยะเวลาการอบรม 2 วัน หรือ ประมาณ 12 ชั่วโมง และการประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้สูงอายุในการจัดกิจกรรมของหน่วยงานและการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซด์ของหน่วยงาน

                   5.  จัดกิจกรรมส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้กับเด็กและเยาวชนในตำบลบ้านแหลม โดยประสานโรงเรียนในเขตพื้นที่ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการเรียนการสอน สัปดาห์ละ 1 วัน  วันละ 1 ชั่วโมง  รวม 12 ชั่วโมง

                   6.  สรุปผลการดำเนินงานและติดตามประเมินผลโครงการ

กิจกรรมที่ดำเนินการ

                   กิจกรรมที่ 1  การจัดอบรมโดยจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายกลุ่ม เพื่อรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ รวมทั้งรวบรวมภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็นทะเบียนภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยในกิจกรรมมีการสอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ

                    กิจกรรมที่ 2  จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา โดยเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติกำหนดระยะเวลาการอบรม 2 วัน หรือ ประมาณ 10 ชั่วโมง

                     กิจกรรมที่ 3  การจัดกิจกรรมส่งเสริมถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้แก่เด็ก และเยาวชน    ในตำบลบ้านแหลม โดยประสานโรงเรียนในเขตพื้นที่ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการเรียนการสอน สัปดาห์ ละ 1 วัน  วันละ 1 ชั่วโมง  รวม 12 ชั่วโมง

5.  ระยะเวลาการดำเนินการ

                   ปีงบประมาณ  พ.ศ. 2558

6.  ผู้รับผิดชอบโครงการ

                   ส่วนสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ้านแหลม  โรงเรียนมิตรภาพที่ 34  โรงพยาบาลบ้านแหลม  และผู้นำชุมชนตำบลบ้านแหลม   

7.  การประเมินผล

          1.   ประมวลผลข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

          2.   มีการจัดทำทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

8.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ         

                   1) ครอบครัว สังคม ชุมชน มีความตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุ

                   2) ผู้สูงอายุสามารถนำความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไป ด้วยความภาคภูมิใจ

                   3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลด้านภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการให้การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ต่อไป