โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 8,512 ครั้ง | โดย กพร.

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

 

การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้สูงวัยซึ่งเป็นวัยที่ต้องการพลังงานและสารอาหารแตกต่างจากวัยทำงาน หรือผู้ที่มีสุขภาพร่างกายปกติ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของระบบต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีความเข้าใจเรื่องอาหารและโภชนาการเป็นอย่างดี ซึ่งความต้องการพลังงานและสารอาหารในผู้สูงอายุแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน

แนวทางการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ

กลุ่มอาหาร พลังงาน(กิโลแคลอรี) ต่อวัน
1,400

 

ชาย-หญิง

(กิจกรรมเบามาก)

1,600

 

ชาย-หญิง

(กิจกรรมเบา)

1,800

 

ชาย-หญิง

(กิจกรรมปานกลาง)

ข้าวแป้ง (ทัพพี) 5 7 9
ผัก (ทัพพี) 4 4 4
ผลไม้ (ส่วน) 1 1 2
เนื้อสัตว์ (ช้อนกินข้าว) 6 7 8
ถั่วเมล็ดแห้ง (ช้อนกินข้าว) 1 1 1
นม (แก้ว) 2 2 2
น้ำ (แก้ว) 8 8 8
ไขมัน (ช้อนชา) 6 6 6
น้ำตาล (ช้อนชา) 6 6 6

โภชนบัญัติ 9 ประการสำหรับผู้สูงอายุ

  1. กินอาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
  2. กินข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย
  3. กินพืชผักและผลไม้ตามฤดูกาลให้มากเป็นประจำ
  4. กินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเป็นประจำ
  5. ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นประจำ
  6. หลีกเลี่ยงอาหาร ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
  7. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน
  8. กินอาหารสะอาด ปลอดภัย
  9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

กินเพลิน เจริญตา พาจำดี มีพลัง

กินเพลิน

สร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารให้อร่อย ด้วยการรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว มีกิจกรรมทำร่วมกัน เช่น ร่วมกันปรุงประกอบอาหาร เปลี่ยนบรรยากาศรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือไปเที่ยวทั้งครอบครัวเป็นบางโอกาส

เจริญตา

เลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน เอ บี1 บี12 ซี อี ลูทีน ซีแซนทีน ซิลิเนียม และสังกะสี ซึ่งช่วยในการทำงานของจอประสาทตา ชะลอการเกิดต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งพบใน ตำลึง ฟักทอง กะหล่ำดอก ผักบุ้ง บร็อคโคลี แครอท ข้าวโพด ฝรั่ง ส้ม มะละกอ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ตับ ไข่ หอยนางรม ปลา นม และน้ำมันพืช เป็นต้น

 

พาจำดี

บำรุงสมองและระบบประสาท ป้องกันการชาตามปลายมือปลายเท้า ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 สารสื่อประสาทโคลิน เลซิตินและวิตามินบีต่างๆ ได้แก่ บี1 บี6 และบี12 เป็นต้น ซึ่งพบใน ปลาทะเลน้ำลึก ใบแปะก๊วย ไข่แดง กล้วย ถั่วเหลืองและข้าวกล้อง เป็นต้น

มีพลัง
ผู้สูงอายุ ต้องการพลังงาน 1,400 ถึง 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน ซึ่งควรเสริมสร้างกล้ามเนื้อและชะลอความเสื่อมของกระดูก ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน แคลเซียม วิตามินดี เค และแมกนีเซียม ซึ่งพบใน นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม เต้าหู้แข็ง ปลาเล็กปลาน้อย และงาดำ เป็นต้น เลือกรับประทานโปรตีนที่ดี เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำย่อยง่าย ถั่วและธัญพืชต่างๆ

รับประทานให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ไม่รับประทานของซ้ำๆเดิมๆ มีปริมาณที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันตามตารางแนวทางการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ เพียงเท่านี้ผู้สูงอายุก็จะมีภาวะโภชนาการที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ต่อสู้กับการเสื่อมถอยของร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

อ้างอิง   https://shorturl.asia/4H6ps