10 จุดเด่นออกแบบที่อยู่อาศัยถูกใจผู้สูงอายุ

10 จุดเด่นออกแบบที่อยู่อาศัยถูกใจผู้สูงอายุ
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,865 ครั้ง | โดย วิชนี ดอกบัว

แนวความคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

 

การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุเบื้องต้นจะคำนึงถึงความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งในการยืน เดิน การทรงตัว และการลื่นล้ม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองได้ดีขึ้น เพื่อสร้างกำลังใจและแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง จากข้อมูล “คู่มือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ, สำนักส่งเสริม และพิทักษ์ผู้สูงอายุ” จึงสรุปแนวความคิดหลักในการออกแบบสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมา 4 ปัจจัยคือ

 

คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ

 

สร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ

ต้องเป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ทั้งการเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน เช่น ระหว่างทางเดินในจุดต่างๆ มีราวจับ กระเบื้อง หรือวัสดุที่ใช้ปูพื้นต้องไม่ลื่น มีระบบขอความช่วยเหลือหลายๆ จุด เช่นในห้องน้ำ ห้องนอน

 

ใช้งานสะดวก ต้องสามารถเข้าถึงง่าย

ในส่วนต่างๆ ของบ้านต้องทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ ของใช้ต่างๆได้อย่างสะดวก เช่น ความสูงของตู้เก็บของ และสวิทซ์ไฟที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุหรือผู้ใช้รถเข็น ในบริเวณที่มีการเปลี่ยนระดับต้องมีทางลาดสำหรับรถเข็น เป็นต้น โดยที่พักอาศัยควรอยู่ใกล้แหล่งบริการต่างๆ ที่จำเป็นกับผู้สูงอายุเช่น โรงพยาบาล ร้านค้า สวนสาธารณะ รวมถึงระบบขนส่งมวลชน

 

มีสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงกระตุ้น

ต้องมีการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางกายภาพให้มีความน่าสนใจ มีการเลือกใช้สีที่เหมาะสม ประกอบกับการใช้ความสว่างที่พอดี และชัดเจน รวมถึงควรมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และชุมชนได้

 

ต้องดูแลรักษาได้ง่าย

ที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุควรต้องดูแลรักษาง่าย มีขนาดไม่ใหญ่มาก อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งความร้อน และความชื้น

 

ขอบคุณข้อมูล : คู่มือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ, สำนักส่งเสริม และพิทักษ์ผู้สูงอายุ



 

10 จุดเด่น เน้นออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ

แนวคิดข้างต้นเป็นแนวแกนหลักที่ต้องคำนึงถึงในทุกครั้งในการสร้างสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ โดยสามารถนำมาใช้ในการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง ? ลองไปดู 10 จุดต่อไปนี้ที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรออกแบบเป็นพิเศษในที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือหากใครต้องปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุที่บ้านก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกันครับ


คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ

 

พื้นบ้าน/ทางเดิน

พื้นบ้านไม่ควรปูพรม เพราะทำให้เกิดฝุ่นและดูแลรักษายาก หากปูพื้นกระเบื้องไม่ควรใช้พื้นมัน หรือกระเบื้องที่มีลวดลายมากไป อาจทำให้ผู้สูงอายุตาลายได้ และเลี่ยงการทำพื้นต่างระดับ หรือธรณีประตู กันสะดุดหกล้ม

 

ประตู

ขยายขนาดความกว้างของประตูเป็น 90 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น ในกรณีที่ใช้รถเข็น จะสามารถเข้า-ออกได้สะดวก

 

ลูกบิดประตู

ใช้ลูกบิดคันโยก เพื่อสะดวกในการจับ และบิดเปิด แทนการใช้ลูกบิดแบบกลม เนื่องจากผู้สูงอายุกำลังมือในการบิดไม่ดี หากใช้แบบกลมอาจจะลำบากกว่า

 

หน้าต่าง

ปรับให้มีขนาดกว้าง และต่ำกว่าปกติ เผื่อผู้สูงอายุนั่งรถเข็น จะสามารถมองเห็นวิวภายนอกได้ชัดเจน

 

บันได

ปกติลูกตั้ง-ลูกนอนตามกฎหมายจะบังคับที่ ลูกตั้ง 18 เซนติเมตร ลูกนอน 25 เซนติเมตร แต่สำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ลูกตั้ง 13 เซนติเมตร ลูกนอน 30 เซนติเมตร จะได้ไม่ต้องก้าวสูงมาก และวางเท้าได้สะดวก ป้องกันการพลัดตก

 

ทางลาด

ใช้สัดส่วน 1:12 เช่นถ้าต้องยกระดับพื้นสูง 10 เซนติเมตร ต้องมีทางลาดยาวไปถึง 120 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการใช้รถเข็น และทางลาดควรใช้วัสดุต่างจากพื้นเรียบ เพื่อแยกแยะความต่างระดับนี้ ส่วนใหญ่ใช้พื้นหินทรายล้าง หรือพื้นระแนงไม้เพื่อกันลื่นบริเวณทางลาด

 

ราวจับ

ควรทำจากวัสดุผิวเรียบ ติดตั้งสูงจากพื้น 80-90 เซนติเมตร และห่างจากผนัง 4-5 เซนติเมตร แต่ถ้าผนังเป็นวัสดุผิวหยาบ ควรติดตั้งห่างอย่างน้อย 6 เซนติเมตร

 

แสง

ให้ส่องสว่างเพียงพอถึงในทุกจุด สามารถใช้ไฟเปิดปิดอัตโนมัติ เมื่อเวลาเดินผ่าน บริเวณทางเดิน บันได และห้องน้ำ จะสะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องเปิดปิดตามจุดต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุ

 

สี

เลือกใช้ สีขาว สีครีม สีเขียว สีฟ้า หรือสีจากเนื้อวัสดุธรรมชาติ เน้นความสบายตา และเสริมด้วยสีโทนร้อนเล็กน้อย พวกสิ่งของของตกแต่งให้มีความสดใส

 

อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

● มีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือกริ่งเตือนภัยภายในห้องพัก

● เก้าอี้ควรมีหลายแบบ ตามน้ำหนักตัวและความสูงของผู้สูงอายุ บางคนหลังงุ้ม หรือบางคนน้ำหนักตัวมาก จะได้นั่งเก้าอี้ตัวที่เหมาะสมกับขนาดตัวไม่ปวดหลังเพราะเกร็ง หรือต้องทนปวดหัวเข่าเวลาที่นั่งงอหัวเข่ามากๆ

● โต๊ะ และเคาน์เตอร์ครัวออกแบบให้ข้างใต้เปิดโล่ง สามารถสอดขาหรือรถเข็นเข้าไปได้สะดวก กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร

● หิ้ง หรือตู้วางสิ่งของ ควรติดต่ำกว่าปกติ หรือประมาณ 70-85 เซนติเมตร จากระดับพื้น เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น สามารถจัดวางของได้ถนัด

● โถสุขภัณฑ์ เลี่ยงการใช้โถแบบยอง ให้ใช้โถแบบนั่ง ความสูงจากพื้นถึงขอบโถที่นั่งสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร เพื่อให้ลุกนั่งสบาย และควรมีราวจับด้านข้าง ป้องกันการลื่น และช่วยพยุงตอนลุกขึ้น

● สวิตซ์และปลั๊กไฟฟ้า อยู่ในระดับเหมาะสม ระดับของสวิทช์ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 120 เซนติเมตร ไม่ควรสูงเกินเพื่อให้ผู้สูงอายุกดได้สะดวกโดยไม่ต้องเอื้อม ส่วนระดับปลั๊กไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 90 เซนติเมตร ต้องไม่ต่ำเกินไป เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องก้มลงไปมาก โดยต้องกระจายอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก

 

นอกจากนั้นหากเป็นพื้นที่ส่วนกลางของโครงการที่อยู่อาศัย ควรมีการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสังคมในแหล่งที่อยู่อาศัยของตนเองได้ด้วย เช่น

 

คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ 

 

● ห้องกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ห้องอ่านหนังสือ, ห้องพระ โดยพื้นที่ควรเพิ่มราวจับภายในห้อง พร้อมพื้นปูด้วยวัสดุกันลื่น

● หากมีพื้นที่สวนควรมีจุดนั่งพักตามทางสำหรับผู้สูงอายุ

● เลี่ยงการการเปลี่ยนระดับของพื้น หรือเพิ่มทางสัญจรด้วยทางลาดเพื่อให้เดินทางไปพื้นที่ส่วนต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ส่วนกลางต่างๆได้ด้วยตัวเอง

● มีห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ

● มีการจัดเตรียมพื้นที่ หรืออุปกรณ์ ในการขนย้าย ในกรณีที่ต้องมีการขนย้ายผู้สูงอายุอย่างเร่งด่วน

● ในบริเวณที่จอดรถมีที่จอดรถสำหรับผู้ใช้รถเข็น และไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้การขนย้ายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน


 

สรุป

การออกแบบให้ที่อยู่อาศัยมีฟังก์ชั่นการใช้งานสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวก ช่วยเหลือตนเองได้ ลดการพึ่งพาจากบุคคลอื่น ลดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว การออกแบบจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถดึงดูดกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคต และเป็นการเตรียมตัวการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ

อ้างอิง https://www.bkkcitismart.com/บทความ/ไลฟ์สไตล์/ออกแบบที่อยู่-เพื่อผู้สูงอายุ2