ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ…ทางเลือกสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยนำเสนอแพลตฟอร์ม “ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นทางเลือกรายได้ให้กับผู้สูงอายุหลังเกษียณได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเอง ในกลุ่มที่มีเงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ข้อมูลล่าสุดในปี 2561 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของประชากรทั้งหมด โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยย่อมก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน เช่น จำนวนประชากรในวัยทำงานที่ลดลง และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ในทางกลับกัน หากมองในแง่ของภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ได้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่บรรดาผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการวางแผนและปรับตัว เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ตลาดของธุรกิจผู้สูงอายุมักกระจุกตัวอยู่กับผู้สูงวัยที่มีรายได้เพียงพอทั้งจากดอกเบี้ยเงินออม รายได้จากบุตรธิดา หรือแม้แต่รายได้จากบำนาญ เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านรายได้ แต่มีทักษะความเชี่ยวชาญตามสายอาชีพที่เคยทำมา หากมีแนวทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยกลุ่มนี้ได้ ก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายธุรกิจที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง
ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ…สร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โมเดลธุรกิจหนึ่งที่อาจจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ โดยมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน คือ ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ โดยการสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชนผู้สูงอายุและองค์กรธุรกิจที่ต้องการจ้างพนักงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ (Freelance) ที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อปฏิบัติงานที่เฉพาะเจาะจงและต้องการทักษะความเชี่ยวชาญที่แตกต่างเป็นงานๆ ไป แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบันในด้านการบริหารต้นทุนแรงงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มหันมาจ้างพนักงานฟรีแลนซ์มากขึ้น ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานประจำ เนื่องจากไม่ต้องมีต้นทุนด้านสวัสดิการต่างๆ และไม่มีภาระผูกพันระยะยาว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดฟรีแลนซ์ไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 3.9 ต่อปี โดยในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และมีจำนวนฟรีแลนซ์ราว 1.9 ล้านคน
การเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ้างงานผู้สูงอายุโดยใช้รูปแบบการจ้างงานฟรีแลนซ์ที่มีการจ้างงานตามความจำเป็น และจ่ายผลตอบแทนตามงานเป็นครั้งๆ ไป แทนการจ้างงานในลักษณะงานประจำ น่าจะช่วยขยายโอกาสการจ้างงานผู้สูงอายุบางกลุ่มได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดที่อาจจะไม่สามารถสร้างงานได้ครอบคลุมผู้สูงวัยทุกคนและทุกสายอาชีพในประเทศ รวมทั้งอาจมีจำนวนผู้สูงวัยที่ได้รับจ้างงานฟรีแลนซ์จริงมีอยู่น้อย และน่าจะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้สูงอายุวัยต้นที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 69 ปี ทั้งนี้ ผู้สูงวัยที่ได้งานน่าจะขึ้นอยู่กับทักษะความเชี่ยวชาญและสุขภาพของผู้สูงวัยแต่ละคน รวมไปถึงความต้องการฟรีแลนซ์ขององค์กรธุรกิจต่อสายอาชีพที่ผู้สูงวัยมีทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการแข่งขันระหว่างฟรีแลนซ์ผู้สูงวัยและฟรีแลนซ์หนุ่มสาว ทั้งนี้ ตลาดฟรีแลนซ์สำหรับผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีลักษณะความต้องการแตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตลาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ต้องการทักษะสูงและกำลังประสบภาวะขาดแคลน ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรธุรกิจในบางสายงานกำลังประสบภาวะขาดแคลนและมีแนวโน้มความต้องการที่สูง เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลวิชาชีพ และวิศกรปิโตรเคมี เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนดังกล่าว องค์กรธุรกิจบางองค์กรได้เริ่มมีการปรับตัวในการจ้างงานผู้สูงอายุหลังเกษียณในลักษณะงานประจำแบบมีกำหนดระยะสัญญาจ้างเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากเพิ่มรูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุแบบฟรีแลนซ์ น่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่องค์กรธุรกิจในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างยืดหยุ่นตามความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุที่มีทักษะความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการในตลาดกลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการถูกจ้างงานฟรีแลนซ์ในระดับสูง
กลุ่มที่ 2 ตลาดผู้เชี่ยวชาญอาชีพโดยทั่วไปที่ต้องการความรู้และทักษะ เช่น นักบัญชี นักแปลหรือล่ามภาษาอังกฤษ และนักเขียน เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดอาชีพที่ไม่ประสบภาวะขาดแคลน แต่องค์กรธุรกิจต้องการจ้างงานเป็นรายครั้งตามความจำเป็นของธุรกิจในขณะนั้น ฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุในตลาดกลุ่มนี้ มีโอกาสเผชิญการแข่งขันค่อนข้างสูงกับฟรีแลนซ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ การตั้งราคาที่มีส่วนลดเมื่อเทียบกับฟรีแลนซ์คนรุ่นใหม่เพื่อดึงดูดใจลูกค้าในการจ้างงานผู้สูงวัยจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญ เพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบด้านผลิตภาพที่ลูกค้าอาจพิจารณาเปรียบเทียบกับการจ้างงานฟรีแลนซ์หนุ่มสาว ซึ่งแพลตฟอร์มชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุควรจะมีการสำรวจระดับราคามาตรฐานของแต่ละประเภทงาน และให้คำปรึกษาผู้สูงวัยในการตั้งราคาที่เหมาะสม
กลุ่มที่ 3 ตลาดผู้ปฏิบัติงานโดยทั่วไปที่ไม่ต้องการความรู้หรือทักษะสูงนัก เช่น คนขับรถ พนักงานขาย พนักงานทำความสะอาด และพนักงานรับโทรศัพท์ เป็นต้น โดยทั่วไปงานในตลาดนี้จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีการศึกษาและต้นทุนทางสังคมที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีเนื่องจากมักเป็นงานที่ต้องอาศัยกำลังกายในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุที่เคยมีต้นทุนทางสังคมที่สูงก็อาจต้องเผชิญความจำเป็นบางประการที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในกลุ่มนี้ การจ้างงานผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ อาจต้องไม่เปิดเผยข้อมูลด้านการศึกษาและตำแหน่งงานก่อนเกษียณ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยในกลุ่มดังกล่าวมีทางเลือกในด้านการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงกับแรงงานคนหนุ่มสาวเช่นกัน ส่งผลให้การตั้งราคาส่วนลดเพื่อชดเชยด้านผลิตภาพจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการจูงใจลูกค้าให้จ้างงานผู้สูงวัยเช่นเดียวกับตลาดกลุ่มที่ 2
เมื่อพิจารณาทางด้านผู้สูงอายุ รูปแบบการทำงานแบบฟรีแลนซ์สามารถให้ความเป็นอิสระและยืดหยุ่นแก่ผู้สูงอายุ ไม่ต้องมีสัญญาผูกมัดระยะยาว สามารถทำงานได้ตามเวลาของตนเอง ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของผู้สูงวัยแต่ละคน ขณะเดียวกันยังได้รับค่าตอบแทนสูงในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะมีรายได้ไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับปริมาณงานและทักษะความเชี่ยวชาญของผู้สูงวัยแต่ละคน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ถูกจ้างงาน ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า ไม่รู้สึกเศร้าซึม ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอีกทางหนึ่ง
สำหรับรายได้ของโมเดลธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุนั้น อาจจัดเก็บกับองค์กรธุรกิจที่ต้องการจ้างงานฟรีแลนซ์ผู้สูงวัยแทนการจัดเก็บจากผู้สูงอายุ เพื่อดึงดูดผู้สูงอายุให้เข้ามาเป็นสมาชิกบนแพลตฟอร์มชุมชนผู้สูงอายุดังกล่าว นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ของผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกในชุมชน เช่น สุขภาพ งานอดิเรก รายได้และลักษณะงานฟรีแลนซ์ที่ทำ เป็นต้น ยังสามารถถูกจัดเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์และต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว และอาหาร เป็นต้น เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคนที่แตกต่างกันในชุมชนได้
เมื่อพิจารณาถึงสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงวัยไทย คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ค่ารักษาดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายด้านการนวดสปา ค่าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น สำหรับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการ เช่น ค่าใช้จ่ายทัวร์ท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายด้านการจัดเลี้ยงสังสรรค์หรือช้อปปิ้ง เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดหาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยย่อมเป็นโจทย์ที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ
นอกเหนือจากโอกาสทางธุรกิจดังที่กล่าวมาแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนที่จัดตั้งขึ้น รวมไปถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกผู้สูงวัยและผู้ประกอบการชุมชนก็เป็นโจทย์ที่สำคัญ โดยผู้ประกอบการอาจจะมีการเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัยมาพบปะ เรียนรู้ และทำงานอดิเรกร่วมกัน เช่น กิจกรรมปลูกผักออร์แกนิก ทริปท่องเที่ยวถ่ายภาพ และไหว้พระ 9 วัด เป็นต้น หรือแม้แต่การให้ความรู้ข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงวัย ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน และเทคโนโลยี ผ่านทางช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยรวมถึงการเปิดคอร์สอบรมที่อยู่ในความสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มภายในชุมชน โดยข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรมและความสนใจในความรู้ข่าวสารของผู้สูงวัย สามารถเก็บรวบรวมเพื่อไปวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจได้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบของแพลตฟอร์มที่จะสร้างขึ้นนั้น ควรจะมีช่องทางการติดต่อสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับรูปแบบออนไลน์ ถ้าเป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ก็ควรออกแบบโปรแกรมให้ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย มีขนาดของปุ่มและตัวหนังสือที่ใหญ่เหมาะสมกับผู้สูงวัย นอกจากนี้ ควรจะมีการจัดทำคู่มือการใช้งานที่เน้นการใช้รูปภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุทำความเข้าใจและทำตามได้ง่าย สำหรับรูปแบบออฟไลน์ ซึ่งมีไว้รองรับผู้สูงวัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ยังคงไม่คุ้นชินกับการสื่อสารออนไลน์ โดยอาจเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบดั้งเดิมอย่างโทรศัพท์ ไปรษณีย์ และควรมีสำนักงานเพื่อให้ผู้สูงวัยเข้ามาติดต่อพูดคุยด้วยตนเองได้
ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุนับได้ว่าเป็นตัวอย่างของทางเลือกหนึ่งที่พยายามจะสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยบางกลุ่ม พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน ในขณะที่ยังคงสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวธุรกิจเองได้ อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวก็ยังคงมีข้อจำกัดในด้านที่ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายของผู้สูงอายุได้ โดยครอบคลุมเพียงกลุ่มผู้สูงวัยที่มีทักษะความเชี่ยวชาญที่เป็นที่ต้องการของตลาดฟรีแลนซ์ และยังคงมีสุขภาพที่ดีในการทำงาน ในขณะที่ผู้สูงวัยที่ไม่มีทักษะเฉพาะหรือประสบปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ ก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องหาแนวทางอื่นในการสร้างรายได้ นอกเหนือจากนี้ มิติปัญหาที่พบในผู้สูงอายุยังคงซับซ้อนและมีหลายด้านมากกว่าด้านเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมในชุมชน เช่น มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านสังคมที่ผู้สูงอายุอยู่อย่างโดดเดี่ยวขาดการดูแลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมสู่ครอบครัวเดี่ยว เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ อย่างองค์รวมก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการคิดและวางแผนทั้งทางภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมต่อไป
ที่มา : https://www.thaiquote.org/content/218659