นักวิชาการไทยชี้ สูงวัย ไร้ปัญหา ต้องมีงานทำ พร้อมแนะ ‘งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’

นักวิชาการไทยชี้ สูงวัย ไร้ปัญหา ต้องมีงานทำ พร้อมแนะ ‘งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,077 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ความสงสัยที่ว่า ทำไมยิ่งแก่ยิ่งจน จะหมดไป เมื่อผู้สูงอายุเมืองไทยยังคงสถานะ ผู้มีงานทำ แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว โดยควรทำ ‘งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’ ตามคำแนะนำที่ได้จากการบรรยายเรื่อง “รูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ” ที่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สังคมเตรียมความพร้อมเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างตื่นรู้และสร้างสรรค์

ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือประชารัฐเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ จัดโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานคร กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลสำรวจที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวมาข้างต้น ถึงอัตราการมีงานทำของผู้งอายุ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ

เปิดภารกิจ สร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุ ด้วยการเผยสถิติผู้สูงอายุที่มีงานทำในไทย

ผศ.ศุภชัย เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นในการเริ่มบรรยายเรื่อง “รูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ” ของเขาว่า

“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ที่มีงานทำและยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว แบ่งเป็นผู้ทำงานในระบบ 4.77 แสนคน และนอกระบบ 3.58 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีก 6-7 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ ฉะนั้นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของผู้สูงวัย กลไกที่สำคัญที่สุดและคาดเห็นผลได้ คือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุควรทำงานเพื่อมีรายได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุในกลุ่มประกันสังคม แรงงานนอกระบบ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ ได้มีโอกาสเข้าถึง ‘งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’ และหารายได้ได้ด้วยตนเองมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ผศ.ศุภชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัยเกษียณที่จะอยู่ได้โดยไม่ได้ทำงานคือ ข้าราชการบำนาญ ที่รับเงินบำนาญร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งแต่ละคนได้เป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือนขึ้นทั้งนั้น ผู้สูงวัยกลุ่มนี้จึงมีความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานต่อหลังเกษียณ ยกเว้นบางสาขาที่มีการขยายอายุ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์ ที่ขยายอายุเกษียณไป 65 และ 70 ปีเป็นรายกรณี

ส่วนแรงงานเกษียณในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินบำนาญเพียงร้อยละ 20 ของเงินเดือน เช่น เงินเดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อเดือน จะได้เงินบำนาญ 3,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งก็อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในอนาคตอยู่ดี

ดังนั้น เพื่อสร้างระบบ สร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุไทย ให้ “สูงวัย ไร้ปัญหา” ผศ.ศุภชัย จึงได้ประกาศถึงพันธกิจร่วมกัน ว่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เตรียมประกาศอัตราค่าจ้างงานผู้สูงอายุรายชั่วโมง ภายหลังมีการออกแบบกติกาการจ้างงานผู้สูงอายุแยกจากแรงงานทั่วไป ของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงาน พร้อมกับคำแนะนำถึงวิชาชีพที่ผู้สูงอายุควรทำและไม่ควรทำ หรือ ‘งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’ เพื่อเปิดช่องและจูงใจให้ภาคเอกชนและสถานประกอบการ สามารถจ้างงานผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมงได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ ซึ่งคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนเมษายนนี้

งานที่เหมาะกับผู้สูงวัย’ ต้องดีต่อสุขภาพผู้สูงวัย สร้างความภาคภูมิใจให้ชีวิต

ส่วนสาขาอาชีพที่ผู้สูงอายุควรทำ ผศ.ศุภชัย ชี้ว่า “ควรเป็นงานที่มีคุณค่า ศักดิ์ศรี และเหมาะสมกับสภาพร่างกาย” อย่างงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ และไม่หนักจนเกินไป ได้แก่ งานเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม สุขภาพ ความเป็นอยู่ อย่างงานในห้างสรรพสินค้า เช่น เดินแจกสิ่งของ สำรวจความพึงพอใจลูกค้า หรืองานในภาคอุตสาหกรรม เช่น โค้ชคอยสอนและควบคุมงานให้เด็กรุ่นใหม่ หรืออาชีพอิสระก็กลุ่มงานช่างเบื้องต้นต่างๆ เช่น ล้างแอร์ ซ่อมปลั๊กไฟ ซ่อมประปา

และแน่นอนว่า เมื่อถามถึงงานที่ไม่เหมาะกับผู้สูงวัย ก็ย่อมเป็นงานที่คาดเห็นได้ว่า งานนั้นจะต้องอาศัยทักษะด้านความรวดเร็ว ซึ่งผู้สูงวัยส่วนใหญ่ทักษะด้านนี้อาจลดลงแล้ว และที่สุดแล้วผู้สูงวัยคนนั้น ทำงานตามหน้าที่มอบหมายไม่ได้ ย่อมเป็นการลดความมั่นใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจและความเครียดขึ้นได้ ดังนั้น ผศ.ศุภชัย จึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าส่วนงานที่ไม่เหมาะกับผู้สูงวัยก็ได้แก่ งานที่ต้องใช้ความรวดเร็ว เช่น แคชเชียร์ รวมถึงงานที่มีส่วนลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงวัยลง อย่าง งานแจกใบปลิว ด้วย

นอกจากนั้น ในการบรรยายช่วงท้าย ผศ.ศุภชัย ยังเน้นย้ำว่า โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าการจ้างงานผู้สูงอายุมีข้อดีกว่าแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์มากกว่า มีทักษะด้านการสื่อสารที่ดีกว่า มีความรับผิดชอบต่องานสูงกว่า

กอปรกับในปัจจุบัน นวัตกรรมทางการแพทย์ก็ทำให้คนอายุยืนขึ้น เชื่อว่าผู้สูงอายุหลายคนยังคงพร้อมทำงานหลังเกษียณ รอเพียงภาครัฐ เอกชน และครอบครัวที่จะเปิดโอกาส เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะปัจจุบันคนไทยมีบุตรน้อยลง ผู้สูงวัยจึงต้องอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ฉะนั้นต้องทำให้ผู้สูงวัยสามารถพึ่งพิงตัวเองให้ได้ ไม่รอพึ่งพิงลูกหลานหรือรัฐบาล

“เพราะอย่างเบี้ยผู้สูงอายุที่รับกันในปัจจุบันจำนวน 8 ล้านคน ใช้งบประมาณ 270,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของจีดีพี และคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น จะต้องใช้งบประมาณจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 700,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ยิ่งแนวคิดที่ขอเพิ่มเบี้ยสูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน มองว่าประเทศคงจ่ายให้ไม่ได้แน่ หรือหากจะจ่ายจริงก็คงต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยเฉพาะการต้องเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างในต่างประเทศ เราจะทำได้ไหม เกษียณอย่างมีคุณค่า”

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าคำตอบของปัญหานี้ที่ “ทำได้เลย” คือ การกระตุ้นให้สังคมไทยมีศรัทธากับศักยภาพของผู้สูงวัยชาวไทย ที่ยังคงมีศักยภาพ ประสบการณ์การทำงาน และมุมมองชีวิต ที่ยังคงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ และนำประโยชน์ด้านนี้มาขยายให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด เพื่อให้ผู้สูงวัยอยู่ในสังคมของเราอย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียม กับคนทุกเพศทุกวัย นั่นเอง

ที่มา : https://www.salika.co/2019/01/31/working-aging-society-recommended/