ธุรกิจแห่จ้าง ‘สูงวัย’ ‘เทสโก้ โลตัส-เซ็นทรัล-อิเกีย’ นำร่อง

ธุรกิจแห่จ้าง ‘สูงวัย’ ‘เทสโก้ โลตัส-เซ็นทรัล-อิเกีย’ นำร่อง
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 39,180 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

โครงการ 60 ยังแจ๋ว เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้าทำงานในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส ทั้ง 2,000 สาขาทั่วประเทศได้

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) กำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาซึ่งความท้าทายในหลายมิติ ทั้งการลดลงของจำนวนแรงงานที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรในวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ระบุว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประชากรทั้งหมด 65.5 ล้านคน และคาดว่าไม่เกิน 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่าภายในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากร ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนของสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงานอยู่ที่ 1 ต่อ 4 จากสัดส่วนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1 ต่อ 10

สูงวัย “อดทน-ประสบการณ์สูง”

ปัจจุบันปัญหาแรงงานขาดแคลนทำให้ภาคธุรกิจทั้งหลายหันมาให้ความสนใจกับแรงงานผู้สูงอายุ เพราะนอกจากที่บริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษี 2 เท่า จากค่าจ้างแรงงานผู้สูงอายุตามนโยบายรัฐ อีกด้านผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มบคคลที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงาน รวมทั้งมีความอดทนในการทำงานสูงกว่าคนรุ่นใหม่ ทำให้ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทเปิดรับแรงงานผู้สูงอายุมากขึ้น

และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมกระทรวงแรงงานได้ลงนามความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน 23 องค์กร ตามโครงการรวมพลังประชารัฐ ส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ เพื่อสร้างคุณค่า สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ

เทสโก้ โลตัส รับสูงอายุทั่วประเทศ

“เทสโก้ โลตัส” ยักษ์ค้าปลีก ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการจ้างงานผู้สูงอายุ “นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์” ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ได้เริ่มดำเนินโครงการ 60 ยังแจ๋ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้าทำงานในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส ทั้ง 2,000 สาขาทั่วประเทศ โดยได้เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุทั่วประเทศหลายพันราย โดยทยอยเริ่มปฏิบัติงานในสาขาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

โดยแรงงานผู้สูงอายุจะเน้นให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า ณ จุดบริการลูกค้า และแคชเชียร์ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเลือกปฏิบัติงานในสาขาใกล้บ้าน รวมทั้งเลือกตารางการทำงานตามที่สะดวก โดยบริษัทจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง สูงกว่าอัตราที่ภาครัฐกำหนด รวมถึงมีสวัสดิการพนักงาน และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่เหมาะกับผู้สูงวัย อาทิ ตรวจสุขภาพประจำปี และรับเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลเมื่อทำงานครบตามกำหนด คูปองส่วนลดสินค้า รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ

ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส ยังคงเปิดรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุเข้าทำงานอยู่เรื่อย ๆ โดยพิจารณาตามความต้องการตำแหน่งงานแต่ละสาขา และความสะดวกและทักษะของผู้สูงอายุที่มาสมัครประกอบกัน โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนตำแหน่งงานที่จะรับ แต่มองในแง่การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถมีรายได้เสริม ใช้เวลาว่างและทักษะที่มีให้เกิดประโยชน์ ได้ใช้ชีวิตในสังคมและ

พบปะผู้คน ซึ่งล้วนจะส่งผลดีทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กับผู้สูงอายุ

เซ็นทรัลต่ออายุหลังเกษียณ

เช่นเดียวกับ “ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่าย sustainable development office บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี กลุ่มเซ็นทรัลจึงมีนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้นในทุกปี โดยเริ่มต้นจากการหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การพิจารณาให้ผู้สูงอายุทำงานในพื้นที่ที่เหมาะสม และมีการจ้างงานทั้งในแบบประจำ และพาร์ตไทม์ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุให้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานอย่างมีความสุข

ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีการจ้างงานผู้สูงอายุจำนวน 295 คน โดยเริ่มต้นจากการต่ออายุงานหลังเกษียณในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างพนักงานแผนกผักผลไม้, พนักงานครัว, พนักงานขายแผนกเครื่องครัว, พนักงานห้อง CCTV, พนักงานตัดเย็บ, พนักงานทำความสะอาด และพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำและพาร์ตไทม์ ซึ่งจะได้รับอัตราค่าจ้าง สิทธิสวัสดิการ ตามตำแหน่งงานเท่ากับพนักงานปกติ อย่างค่ารักษาพยาบาล, เงินกองทุนทดแทน, ตรวจสุขภาพประจำปี, โบนัสประจำปี/ ปรับเงินเดือนประจำปี, ค่าคอมมิสชั่น สำหรับตำแหน่งพนักงานขาย และค่าจัดเรียงสินค้าตามเงื่อนไขแผนก เป็นต้น

สำหรับพนักงานผู้สูงอายุที่ยังมีความประสงค์จะทำงานจะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง และมีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งงานที่สมัคร หรือมีทักษะสำคัญอันจำเป็นต่อการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ โดยกลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น และมุ่งสร้างความเข้าใจ ทัศนคติเชิงบวกในองค์กรให้กับพนักงานปกติให้เข้าใจในตัวผู้สูงอายุ และการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุได้ต่อไป

“อิเกีย” เปิดโอกาสทุกวัย

ขณะที่ “อิเกีย” ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จากสวีเดน ถือว่ามีนโยบายในการจ้างงานที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนแบบไม่จำกัดอายุ (ยกเว้นแรงงานเด็ก) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ขอเพียงแค่มีความชื่นชอบในการแต่งบ้าน และรักงานบริการ สามารถมาสมัครเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ที่อิเกียได้ โดยปัจจุบันมีผู้สูงวัย อายุ 55-60 ปีขึ้นไป ที่เป็นพนักงานประจำ หรือพาร์ตไทม์ 13 คน ทั้งยังเปิดรับผู้สูงอายุทำงานพาร์ตไทม์อีกหลายตำแหน่ง เช่น พนักงานบริการลูกค้า, พนักงานร้านอาหาร, พนักงานครัว, พนักงานบิสโทรและอาหารสวีเดน เป็นต้น เนื่องจากอิเกียมองว่าการร่วมงานกับคนหลายพื้นภูมิ หลากประสบการณ์ และต่างมุมมองจะช่วยให้สร้างทีมงานที่แข็งแกร่งได้

5 ตำแหน่งงานของผู้สูงอายุ

ขณะที่ “นางเพชรรัตน์ สินอวย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ว่า หลังลงนามความร่วมมือดังกล่าว ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2562 มีผู้สูงอายุที่ประสงค์จะเข้าทำงานตามโครงการดังกล่าวประมาณ 1,200 คน และมีผู้สูงอายุที่ได้รับการบรรจุงานในสถานประกอบการไปแล้วกว่า 900 คน โดยมีสถานประกอบการที่ต้องการแรงงานผู้สูงอายุ รวมจำนวน 299 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 327 ตำแหน่ง 15,507 อัตราอาชีพที่ผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานมากที่สุด 5 อันดับ

ได้แก่ 1) แนะนำการขายสินค้า 2) จัดเรียงสินค้า 3) ประชาสัมพันธ์ 4) แม่บ้าน ช่างเทคนิค และ 5) งานบริการต่างๆ โดยกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้สูงอายุ ตามโครงการรวมพลังประชารัฐ จำนวน 100,000 คน แบ่งเป็นแรงงานผู้สูงอายุในระบบ 20,000 คน ประกอบด้วย 1) ลูกจ้างเอกชน 15,000 คน 2) ลูกจ้างภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 5,000 คน และแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ 80,000 คน เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ 70,000 คน และส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน 10,000 คน

กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ “สูงวัย”

นอกจากนี้คณะกรรมการค่าจ้างยังได้กำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในประเภทงานเสมียนพนักงาน งานที่เกี่ยวกับการค้า, งานด้านบริการ และงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างสูงอายุ คิดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง อัตราเดียวทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง พร้อมกำหนดว่าไม่ควรทำงานเกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์

อย่างไรก็ตามการจ้างงานผู้สูงวัยขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ หรือการต่ออายุแรงงานเกษียณซึ่งถือเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงาน ส่วนใหญ่ก็จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ที่มา : https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_111819