เหตุผลที่ควร “จ้างงานผู้สูงอายุ”

เหตุผลที่ควร “จ้างงานผู้สูงอายุ”
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 59,867 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ อีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ภาครัฐเร่งเตรียมมาตรการรองรับผู้สูงอายุ ด้วยหวังให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ และหนึ่งในมาตรการรับมือที่น่าสนใจ คือ “การจ้างงานผู้สูงอายุ” นั่นเอง

มาตรการ “จ้างงานผู้สูงอายุ” เกิดขึ้น เพราะ ?

รัฐบาลมีความต้องการให้ “ผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณ” ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานอีกครั้ง เชื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ และบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว ที่สำคัญ ยังเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางวิชาชีพ

เหตุผลที่ควรจ้างงานผู้สูงอายุ

สถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) สามารถใช้สิทธิในการหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่ได้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุไปจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ดังนั้น สถานประกอบการมีสิทธิหักรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้สูงสุดถึง 30,000 บาท

แต่จำนวนการจ้างงานนั้น ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อาทิ บริษัท A มีพนักงาน ทั้งสิ้น 310 คน แสดงว่า จำนวนผู้สูงอายุที่บริษัทสามารถรับเข้าทำงานได้ ต้องไม่เกิน 31 คน

ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดค่าจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ คือ เมื่อนำค่าจ้างผู้สูงอายุทั้งหมดมารวมกัน ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายจ่ายค่าจ้างในบริษัทนั้น ๆ

คุณสมบัติของผู้สูงอายุที่สถานประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้

(1) ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

(2) มีสัญชาติไทยเท่านั้น

(3) ผู้สูงอายุที่จะเข้าทำงาน ต้องเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่จ้างอยู่ก่อนแล้ว อาทิ เกษียณอายุงานและสถานประกอบการจ้างให้ทำงานต่อ หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับกรมการจัดหางาน

(4) ผู้สูงอายุที่สถานประกอบการรับเข้าทำงาน ต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของสถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุดังกล่าว สำหรับกรณีนี้ กฎหมายมีเจตนาให้เจ้าของกิจการจ้างบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นของตนเองเข้าทำงาน เพื่อประโยชน์ในการสร้างแรงงานและป้องกันการวางแผนภาษีอากร

ประเภทงานที่ผู้สูงอายุทำได้

(1) การทำงานแบบมีนายจ้าง อาทิ งานบริการ และงานพื้นฐานในอุตสาหกรรมการขายส่ง-ขายปลีก หรืออุตสาหกรรมโรงแรม

(2) การรับงานไปทำที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ใช้ความสามารถทางฝีมือ

(3) อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ (Freelance) อาจทำงานเป็นที่ปรึกษา อาจารย์ หรืองานเขียน อาทิ รีวิวหนังสือ รีวิวที่พัก เป็นต้น

บริษัทหรือหน่วยงานที่เริ่มรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน

– ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์

– IKEA (อิเกีย)

– Big C

– Grab Car ฯลฯ

นี่เป็นเพียงรายชื่อของสถานประกอบการบางแห่งที่มีการประกาศรับ “ผู้สูงอายุ” เข้าสู่ระบบการทำงาน หลังเกษียณอายุอีกครั้ง

แหล่งหางานหรือฝากประวัติ มีที่ไหนบ้าง ?

สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการหางานทำสามารถมาใช้บริการที่

(1) ศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ อยู่ที่ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart job Center) ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ

(2) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครในเขตพื้นที่อื่น ๆ

(3) สำนักงานจัดหางานจังหวัด (ทั่วประเทศ)

หรือสมัครทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/elderly นอกจากนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

กลับเข้าทำงานใหม่ ผู้สูงอายุยังขอรับเงินบำเหน็จชราภาพได้หรือไม่

สำหรับผู้สูงอายุที่เกษียณจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพในช่วงที่เคยทำงานครั้งแรกไปแล้ว ต่อมา เมื่อกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง ย่อมทำให้ผู้สูงอายุคนดังกล่าว เริ่มต้นส่งเงินสมทบใหม่อีกครั้ง จึงมีสิทธิได้รับเงินบำหน็จชราภาพของการสะสมครั้งใหม่ เมื่อลาออกจากงาน

ที่มา : https://tonkit360.com/29650