แนวคิดบ้านสูงวัย รับสังคมวัยเกษียณ

แนวคิดบ้านสูงวัย รับสังคมวัยเกษียณ
วันที่ 5 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 4,999 ครั้ง | โดย วิชนี ดอกบัว

ประเทศไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว โดยจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 7% ของประชากรทั้งหมด และในอนาคตประชากรสูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า ในปี 2564  ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” เพราะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 14% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 20%

เทรนด์ผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เหมือนที่ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ล้วนปรับเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมที่สุดด้านหนึ่งก็คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยในอนาคต

เมื่อโรคภัยและวัยชรามาเยือน ลักษณะบ้านแบบเดิมๆ จึงไม่ตอบโจทย์ ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้สูงวัยไม่ได้แค่ต้องการแค่เรื่องของ Facility ต่างๆ สำหรับอยู่อาศัยเพียงเท่านั้น ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสังคม การได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงการออกแบบ และการใช้นวัตกรรมเพื่อผู้อยู่อาศัยทุกเพศทุกวัยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รายละเอียดต่างๆ ในการนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องคิดให้ครอบคลุมกว่าเดิมไปอีกขั้น

แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัยของญี่ปุ่น

พักหลังเราเริ่มได้ข่าวคราวบริษัทอสังหาฯ เริ่มหันมาทำคอนโดมีเนียมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยมาบ้างแล้ว ล่าสุด เอพี (ไทยแลนด์) ก็เพิ่งประกาศจะสร้างคอนโดมีเนียมที่เจาะกลุ่มคนสูงวัยรุ่นใหม่ (The Young Old) อายุ 60 - 75 ปี ที่มีจุดต่างด้านทำเลที่ตั้งใจกลางเมืองติดแนวรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีคิด และการออกแบบที่เข้าถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัย ผสานความร่วมมือกับกลุ่มมิตซูบิชิเอสเตท (MECG) ส่งต่อองค์ความรู้เฉพาะทางจากความสำเร็จในการสร้างโครงการอสังหาฯ เพื่อผู้สูงวัยในญี่ปุ่น

มร. โทโมฮิโกะ เอกุจิ (ซ้าย) และวิทการ จันทวิมล (ขวา)

มร. โทโมฮิโกะ เอกุจิ Director and Executive Officer บริษัท พรีเมี่ยม เรสซิเดนซ์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง เอพี (ไทยแลนด์) และบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ ในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป – MECG และวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 

เพื่อให้เห็นภาพ Baania ตอบรับคำชวนของ เอพี (ไทยแลนด์) ตามไปดูแนวคิดและนวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกพัฒนาเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัยของคนญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เราเห็นมุมมองในการออกแบบบ้านที่ไร้สิ่งกีดขวางตามกฎหมาย Barrier Free Law (กฎหมายส่งเสริมการเคลื่อนที่และการเข้าถึงอย่างสะดวกสบายของผู้สูงอายุและผู้พิการ) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2006 อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ: Barrier Free Law in Japan

Nursing Home

“Charm Premier Fukasawa”

เนิร์สซิงโฮม ชาร์ม พรีเมียร์ ฟูกาซาวะ

นี่คือตัวอย่างของบ้านพักผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่น บริหารจัดการโดย Charm Care Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัด บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 มีห้องพักทั้งสิ้น 85 ห้อง ปัจจุบันมีผู้สูงวัยเข้าพักแล้วประมาณ 50% พื้นที่ภายในได้รับการออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้สูงวัย โดยมีการจัดสรรให้เป็น   ส่วนของห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้ทุกวันของการพักอาศัยที่นี่ รู้สึกเหมือนเป็นชุมชนของการอยู่อาศัยที่มีความสุข ภายในประกอบไปด้วย ห้องออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ โดยภายในอาคารให้บรรยากาศเหมือนแกลเลอรี่ศิลปะเพราะประกอบไปด้วยงานศิลป์ของนักศึกษามากกว่า 100 ชิ้นที่จัดแสดงไว้ให้ผู้สูงวัยได้เสพงานศิลป์เพื่อการผ่อนคลาย  ส่วนด้านนอกจัดเป็นสวน พร้อมระเบียงไม้ให้สามารถออกไปนั่งชมสวนในวันที่อากาศดี

บรรยากาศในเนิร์สซิงโฮม ชาร์ม พรีเมียร์ ฟูกาซาวะ

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีบริการและกิจกรรมอีกมากมายที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตในบ้านพักแห่งนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การแสดงมายากล ยิมนาสติกเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกาย กิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่เมนูอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และอาหารมื้อพิเศษในโอกาสต่างๆ

Wellness Community

“Wellness Square in Fujisawa SST by Panasonic Corporation”

Wellness Square อาคารที่พักเพื่อผู้สูงวัยในเมืองอัจฉริยะ Fujisawa SST โดย Panasonic

อาคารพักอาศัยเพื่อผู้สูงวัย ตั้งอยู่ภายในโครงการ Fujisawa Sustainable Smart Town พัฒนาโดย Panasonic Corporation ภายในประกอบด้วย 2 อาคาร คือ North และ South พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี จึงพัฒนาให้สามารถรองรับบุคคลได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีแนวคิดส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกเพศทุกวัยเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย โดยพื้นที่หลักของ Wellness Square มุ่งเน้นไปที่การใช้สอยของผู้สูงวัย และยังประกอบไปด้วยบริการอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไว้ด้วยกัน เช่น บ้านพักผู้สูงวัย คลีนิกตรวจรักษาสุขภาพ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ห้องจัดกิจกรรม และอื่นๆ

บรรยากาศภายใน Wellness Square

ในส่วนของคลินิกรักษาสุขภาพมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบันทึกและเชื่อมโยงทุกข้อมูลของผู้พักอาศัย ทั้งจากโรงพยาบาล ศูนย์กีฬา ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับยา และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นไว้ในฐานข้อมูลที่สามารถนำมาเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาการขาดความเชื่อมโยงของข้อมูลที่จำเป็นและข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้การรักษาล่าช้า

Renovation Business & Elderly-friendly, Residential Design

“Mitsubishi Estate Home Gallery”

บริเวณด้านหน้าโชว์รูม Mitsubishi Estate Home (MEH)

Mitsubishi Estate Home (MEH) ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและรีโนเวทที่อยู่อาศัยโดยมีมาตรฐานการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงวัย ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย ผนวกกับความร่วมมือกับพันธมิตรในการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาซึ่งความสะดวก ปลอดภัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แน่นอนว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาฯ ทั่วไป เนื่องจากจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยในการดำรงชีวิตตามแนวคิดหลักในการออกแบบที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยทุกวัย (Universal Design) เช่น การออกแบบให้มีสิ่งกีดขวางบนพื้นให้น้อยที่สุด การติดตั้งราวจับเพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัย การออกแบบประตูทางเข้าให้มีความกว้างมากกว่าปกติ หรือการจัดวางระบบไฟส่องสว่างทั้งเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการบริหารจัดการอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมตลอดวัน

พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว

Barrier Free Floor ไม่มีขั้นบันได เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ

1. พื้นที่ระหว่างห้องที่เป็น Barrier Free

2. Barrier Free Floor ไม่มีขั้นบันได เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ

อุปกรณ์ควบคุมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัยในบ้าน

1. อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน

2. ผนังกันความร้อนผลิตจากแร่ใยหิน ได้รับรางวัล Good Design Award 2013

3. ประตูบานเลื่อนเพื่อการเปิด-ปิดที่สะดวกสำหรับผู้สูงวัย

Materials & Innovation

“NODA SHOWROOM by NODA Corporation”

พื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก Shock Absorbing Floor คิดค้นโดย NODA

พื้น Shock Absorbing Floor ลดแรงกระแทก คิดค้นโดย NODA เทียบกับพื้นไม้ปกติ

NODA Corporation บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปูพื้นชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยขึ้น อันเริ่มต้นจากการทำวิจัยและพัฒนาโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และนำความชำนาญของตนในฐานะผู้ผลิตวัสดุปูพื้น มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมวัสดุปูพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก (Shock Absorbing Floor) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการรองรับแรงกระแทกและให้ความอบอุ่นเมื่อสัมผัส

ชุดเครื่องแต่งกาย เพื่อสัมผัสประสบการณ์เสมือนผู้สูงวัยในโชว์รูม NODA

ชุดเครื่องแต่งกาย เพื่อสัมผัสประสบการณ์เสมือนผู้สูงวัย มีในโชว์รูม NODA

อีกหนึ่งไฮไลท์ภายใน NODA Showroom คือการจำลองประสบการณ์สูงวัยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส ด้วยการสวมชุดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สัมผัสประสบการณ์เสมือนเป็นผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยภายในบ้านที่ออกแบบภายใต้แนวคิดปลอดสิ่งกีดขวาง (Barrier Free) คือการออกแบบทางเดินให้ราบเรียบ ไร้ขั้นบันไดหรือทางต่างระดับ หรือมีบันไดน้อยที่สุด เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวก ช่วยเหลือตนเองได้ ลดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ พื้นบ้านที่สามารถกันการลื่นหกล้ม และช่วยลดแรงกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุ ประตูบ้านที่สามารถผลักออกได้ไม่ว่าจะอยู่ทั้งภายใน และภายนอกห้อง และถึงแม้อยู่ในพื้นที่จำกัดประตูนี้ก็ยังสามารถเปิดได้กว้างและยังสามารถติดตั้งราวจับได้ด้วย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือรถเข็น

อุปกรณ์ต่างๆ ถูกปรับให้เหมาะสำหรับผู้สูงวัย ผู้พิการ หรือผู้ใช้ wheelchair

1. ประตูที่เปิดแบบสวิงได้ทั้ง 2 ฝั่ง

2, 3 ประตูที่ปรับองศาการเปิดให้ได้ระยะกว้างขึ้นสำหรับผู้ใช้ wheelchair

4. เปรียบเทียบระยะของ corridor ที่เหมาะสำหรับ wheelchair

ห้องน้ำ บันได และอุปกรณ์ที่ปรับฟังก์ชันให้เหมาะสำหรับผู้สูงวัย

1. ห้องน้ำที่ปรับระยะให้เหมาะสำหรับผู้สูงวัย และราวจับที่ปรับได้ตามความสูงของคน

2. บันไดที่ปรับให้ความชันลดลง หน้ากว้างมากขึ้น พร้อมแถบเรืองแสงสำหรับยามกลางคืน

3. สวิทช์และปลั๊กไฟ ที่ปรับตำแหน่ง และขนาดให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ใช่ wheelchair

ทุกวันนี้สถานดูแลผู้อยู่อาศัยสูงอายุไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับคนไร้ทางไป แต่มันคือทางเลือก คือบริการ และคือธุรกิจที่กำลังเติบโต Baania ได้ไปเห็นบ้านพักระดับห้าดาว รวมถึงการออกแบบ และเทคโนโลยีที่คิดมาเพื่อทุกเพศทุกวัยอย่างใส่ใจของคนญี่ปุ่นเขาแล้วก็รู้สึกว่าถ้าตั้งใจทำให้ดีมีระดับจริงๆ มันก็น่าอยู่ไม่เบานะครับ

อ้างอิง https://www.baania.com/th/article/ap-พาชมบ้านสูงวัย-หรูหรา-ปลอดภัย-รับสังคมวัยเกษียณ-artical_4143