การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และเพียงพอ

การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และเพียงพอ
วันที่ 9 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 6,641 ครั้ง | โดย กลุ่มกฎหมาย สลก.

เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงของการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และเพียงพอ เพื่อเปิดโอกาสในการเดินทางให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชนได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศมีความเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขและการคมนาคมขนส่งอย่างทั่วถึง ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่และการศึกษาที่ดีขึ้น รู้จักดูแลรักษาสุขภาพอนามัย ทำให้ประชาชนมีอายุยืนมากขึ้นและเสียชีวิตน้อยลง ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี พ.ศ. 2567-2572  จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 พบว่า มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,725,601 คน คิดเป็นร้อยละ 2.62 ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุให้ดีขึ้น นั่นก็คือ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวก และลดปัญหาอุปสรรคในการเดินทางให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างปุถุชนคนทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางสังคมและส่งเสริมให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพและมีศักดิ์ศรี

กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมคนพิการและผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการบริการขนส่งสาธารณะ โดยจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคารสถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง ตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design: UD) ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า อุปสรรคต่อการพัฒนาระบบบริการภาคขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุมีหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็น “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ที่ครอบคลุมการแก้ไขอุปสรรค เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นไปอย่างสอดคล้อง ครอบคลุม และบูรณาการ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ได้รับทราบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้ว อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2564 และอยู่ในส่วนของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2545 – 2564 โดยในยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ จะเน้นในเรื่องการเสนอให้ใช้แนวคิดในการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหลักกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายอย่างบูรณาการ
  2. ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพสิ่งอำนวยความสะดวกและยานพาหนะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยเน้นในเรื่อง การปรับปรุงหรือพัฒนาอาคารสถานที่ที่ให้บริการภาคขนส่งและมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับยานพาหนะประเภทต่างๆ เพื่อรองรับการใช้บริการของคนพิการและผู้สูงอายุให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย หลักการออกแบบเพื่อทุกคน และหลักการออกแบบบริการ (Service Design)
  3. ด้านการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมสำหรับผู้ที่รับผิดชอบด้านการออกแบบและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่ปฏิบัติงานในสถานที่บริการในภาคขนส่งต่างๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุในการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ
  4. ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการศึกษาหรือจัดให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพื่อประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุ เช่น เว็บไซต์ตามมาตรฐาน และ Mobile application

กระทรวงคมนาคมได้นำร่อง ด้วยการใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ให้บริการภาคการขนส่ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) ท่าเรือพระนั่งเกล้า เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีรถไฟความเร็วสูงที่ จ.นครปฐม และท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่แรก โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต้นแบบที่ออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ประตูทางเข้าออกของอาคาร ทางลาด ห้องน้ำ ลิฟต์ ที่จอดรถ สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และระบบอักษรเบลล์ที่ควรจะมีในอาคารสถานที่บริการภาคขนส่ง นอกจากนี้จะมีการพิจารณาถึงสถานที่ให้บริการภาคขนส่งอื่นๆ เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าอากาศยานในภูมิภาค เพื่อเป็นแผนการพัฒนาในระยะต่อไปด้วย ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ส่งมอบรายละเอียดต้นแบบการปรับปรุงดังกล่าวให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อรับไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จะเป็นส่วนสำคัญเพื่อรับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ตลอดจนยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้คนพิการและผู้สูงอายุ สามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกปลอดภัย และให้การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเป็นองค์ประกอบหลักของทุกคนอย่างแท้จริง