โรคระบบทางเดินอาหาร และระบบปัสสาวะ
โรคระบบทางเดินอาหาร และระบบปัสสาวะ
โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
ระบบทางเดินอาหาร เริ่มต้นจากปากไปหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ปากเป็นแหล่งที่ย่อยอาหารอันดับแรก ในปากประกอบด้วย ฟัน ลิ้น เพดาน กระพุ้งแก้ม พื้นของเพดาน อวัยวะเหล่านี้ทำหน้าที่ เก็บ คลุกเคล้า และบดอาหารให้เหลวและกลืนลงไปยังหลอดอาหาร นอกจากนี้ปากยังทำหน้าที่หายใจแทนจมูก เมื่อเราหายใจทางจมูกไม่ได้
รูปแสดงส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร
หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อยาวประมาณ 9 นิ้ว ทำหน้าที่นำเอาอาหารที่ย่อยแล้ว ลงสู่กระเพาะอาหารโดยการหดตัวแบบลูกคลื่น
กระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่ต่อจากหลอดอาหาร มีลักษณะยืดหดได้ สามารถบรรจุได้ประมาณ 1,500 ซีซี.
น้ำย่อยอาหาร ในแต่ละวัน จะมีน้ำย่อยอาหารถูกขับออกมาจากกระเพาะอาหารเพื่อย่อยอาหารหลังจากนั้น อาหารก็จะผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะมีน้ำย่อยจากตับอ่อน และน้ำดีช่วยย่อยอาหารต่อไป
ลำไส้เล็ก เป็นท่อกล้ามเนื้อยาวประมาณ 6 เมตร (20 ฟุต) เริ่มจากปลายสุดของกระเพาะอาหาร ลงไปจนถึงลำไส้ส่วนต้น ลำไส้เล็กสามารถหลั่งน้ำย่อยออกมา เพื่อย่อยอาหารให้สมบูรณ์
ลำไส้ใหญ่ ยาวประมาณ 1.5 เมตร (5 ฟุต) มีหน้าที่สำคัญ คือ ดูดซึมสารเหลว ส่วนกากที่เหลือนั้น จะกลายเป็นอุจจาระอยู่ในลำไส้ใหญ่และถ่ายออกมาทางทวารหนัก
โรคที่เกิดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุที่พบมาก
1. เกี่ยวกับการกิน ได้แก่ ปากจนถึงกระเพาะ
2. เกี่ยวกับการย่อยและดูดซึม ได้แก่ กระเพาะจนถึงลำไส้เล็ก
3. เกี่ยวกับการถ่าย ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก
โรคทางเดินอาหารที่เกี่ยวกับการกิน แบ่งได้เป็น
- ภายในปาก อาจมีสาเหตุจาก
- โรคเกี่ยวกับฟัน ฟันปลอม ทำให้เกิดแผล
- โรคจากการติดเชื้อก้อนเนื้องอกหรือแผลในปาก ซึ่งอาจเกิดจากโรคร้ายได้
- การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา - ในหลอดอาหาร เกิดโรคกลืนอาหารแล้วรู้สึกติด มีความรู้สึกมีอะไรค้างอยู่ที่คอหอย หรือทรวงอกรู้สึกอึดอัดซึ่งในคนแก่มักเกิดโรคมะเร็ง 70-80%
- กระเพาะอาหาร ถ้าเป็นโรคไม่ว่าจะเป็นจากทางกายหรือทางใจจะทำให้มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนได้
- โรคทางกาย ได้แก่ แผลในกระเพาะ มะเร็ง
- โรคทางใจ พบว่าสาเหตุมักเกิดจากความเบื่อหน่าย ท้อแท้ เศร้า หงุดหงิด น้อยใจง่าย ขาดความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อม มองเห็นตนเองไร้คุณค่า
โรคทางเดินอาหารที่เกี่ยวกับการย่อยและการดูดซึม
1. ทางเดินน้ำดี ที่พบได้บ่อย คือ นิ่วในถุงน้ำดี มีผลทำให้เกิดภาวะดีซ่าน
2. ตับ-อาการที่แสดงอันสำคัญ คือ ภาวะดีซ่าน โรคพยาธิใบไม้ในตับ ก็มีส่วนจากการอุดตันหรืออักเสบของทางเดินน้ำดี
ลักษณะแผลในกระเพาะอาหาร
มีลักษณะเหมือนแผลที่ผิวหนัง และสามารถเจาะลึกทำให้เกิดกระเพาะทะลุได้ หรือถ้าแผลไปถูกเส้นเลือด จะทำให้เลือดออกในกระเพาะได้ เช่นกัน ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นมากกว่า
สาเหตุ
ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนักทราบแต่ว่า เกิดจากการสัมผัสของกรด เกิดในบุคคลที่มีอารมณ์ตึงเครียด สูบบุหรี่จัด จากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูก ยาจากสเตียรอยด์ หรือสารสังเคราะห์ ที่มีฤทธิ์แก้ปวดคล้ายสเตียรอยด์
อาการ
โดยปกติมักบ่นปวดหรือเสียดท้อง ปวดจี๊ดบริเวณกลางยอดอก หรือด้านหลัง มักปวดหลังทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง เข้าใจว่าความปวดเกิดขึ้น เมื่อจำนวนกรดเพิ่มขึ้นในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วเกิดแผลทำให้กระตุ้นปลายประสาทที่เปิดอยู่
อาเจียน เป็นอาการขั้นที่ 2 เนื่องจากการอุดตันที่บริเวณส่วนปลายของกระเพาะอาหารจากการอักเสบรุนแรง และบวมอย่างเฉียบพลัน ของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ที่อยู่ในบริเวณแผลนั้น อาจมีหรือไม่มีอาการคลื่นไส้ก็ได้
อาการแทรกซ้อน มี 3 ประการใหญ่ๆ คือ
1. การตกเลือด
2. กระเพาะอาหารทะลุ
3. การอุดตันของกระเพาะอาหารส่วนปลาย
การรักษามี 2 วิธี
- ให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว
- โดยการใช้ยา ถ้าแผลธรรมดาและเป็นครั้งแรกรักษาให้หายง่าย ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ (ประมาณ 2 เดือน) แผลสามารถหายเองได้ 50% ส่วนคนที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินยาแก้ปวด ทำให้แผลหายช้า ส่วนของที่มีรสเปรี้ยวหรือเผ็ดเกินไป มีผลทำให้ปวดมากขึ้น แผลที่ไม่หายอาจเป็นจากแผลที่มีการดื้อยาหรืออาจเป็นมะเร็งได้
- โดยการผ่าตัด จะต้องมีความแน่นอนว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร จุดมุ่งหมายในการผ่าตัดเพื่อลดอาการแทรกซ้อน ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดแผลขึ้นอีก
การป้องกันและการปฏิบัติตน
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด การออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควรสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัวว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องเป็นประจำ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ให้รีบไปพบแพทย์
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- ไม่ไปรักษาโดยวิธีอื่นๆ นอกจากแพทย์เท่านั้น
โรคถุงน้ำดี
เป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสองในผู้สูงอายุ เกิดจากมีนิ่ว ซึ่งเป็นก้อนหรือหินแข็งอยู่ในถุงน้ำดี พบว่า ในคนแก่ จะเสียชีวิตจากนิ่วในถุงน้ำดี ประมาณ 12% ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง
อาการ จะมีได้ 2 แบบ
1. แบบแสดงอาการทางโรคถุงน้ำดีเอง มีอาการจุดเสียดใต้ลิ้นปี่ อึดอัด แน่น เรอ หลังรับประทานอาหาร หรือมีอาการปวดแสบปวดเรื้อรังบริเวณช่องท้องซีกขวาด้านบน
2. แบบแสดงอาการของท่อทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว จะมีอาการปวดบริเวณช่องท้องซีกขวา ด้านบนร้าวขึ้นไปด้านหลัง หรือไหล่ขวา ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้จะสังเกตได้ชัดเจนขึ้น ภายหลังจากรับประทานอาหารอิ่มเต็มที่ หรืออาหารที่มีไขมันมาก
การปฏิบัติตน
1. ดื่มน้ำมากๆ
2. งดอาหารมันมากๆ
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดนิ่ว เช่น หน่อไม้ ผักขม (สารที่มี Oxalate)
4. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ
การรักษา มี 2 วิธี
1. ทางยา โดยการใช้ยาสลายนิ้ว แต่ต้องไม่ใช่นิ่วที่มีแคลเซี่ยมไปเกาะ
2. การผ่าตัด อาการของนิ่วที่ต้องผ่าตัดมีหลายระยะ เช่น
- ปวดท้องจากนิ่วอุดตันของท่อน้ำดี
- บางรายนิ่วอาจหลุดไปในทางเดินน้ำดี เข้าสู่บริเวณลำไส้เล็กหรือในลำไส้ใหญ่ทำให้อุดตัน
มะเร็งในตับ ในผู้สูงอายุพบน้อยกว่าคนหนุ่มสาว
สาเหตุ เกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เชื้อไวรัส บี, พยาธิ, พิษสุรา หรืออื่นๆ
อาการ จะพบว่าน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย และโลหิตจาง ตับโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการดีซ่าน ปรากฏขึ้นเมื่อท่อน้ำดีใหญ่ ถูกกดด้วยก้อนเนื้องอกที่ขั้วตับ และอาการท้องบวมน้ำปรากฎขึ้นได้ต่อเมื่อหลอดโลหิตดำของเส้นเลือดที่ไปยังตับอุดตัน
การรักษา การผ่าตัดมะเร็งของตับจะได้ผลก็ต่อเมื่อเนื้องอกนั้นอยู่ในระยะแรกเริ่ม ไม่มีการลุกลาม แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ส่วนในรายที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว รักษาได้วิธีเดียว คือ ช่วยให้บรรเทาอาการทั่วๆ ไป
การป้องกันและการปฏิบัติตน
- ส่วนใหญ่ป้องกันตามสาเหตุ เช่น มีสาเหตุมาจากพยาธิ ก็ป้องกันโดยไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
- ควรสังเกตอาการผิดปกติของตนเองและสมาชิกในครอบครัว เช่น น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย ท้องบวม ตัว ตาเหลือง ให้รีบไปพบแพทย์
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น ถั่วป่นที่ขึ้นรา ของรมควัน
ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
1. ควรสังเกตอาการของตนเองและเพื่อว่ามีอาการอย่างไร
2. เมื่อมีอาการน่าสงสัยควรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์
3. ไม่ไปรักษาโดยวิธีอื่นๆ นอกจากแพทย์เท่านั้น
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
ระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย
1. ไต
2. ท่อไต
3. กระเพาะปัสสาวะ
4. ท่อปัสสาวะ
5. อวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชาย
ปกติกระเพาะปัสสาวะจะจุปัสสาวะได้ถึง 600 ซีซี. แล้วขับออกได้หมด ขบวนการนี้ เป็นกลไกที่ช่วยในการป้องกันความผิดปกติ ทางพยาธิสภาพ อันอาจจะเกิดขึ้นกับทางเดินปัสสาวะ ลักษณะการถ่ายบางคนอาจจะกลั้นปัสสาวะได้นาน แต่บางคนไม่ได้นานตามแต่นิสัย โรคที่พบได้มากของระบบทางเดินปัสสาวะในผู้สูงอายุ ก็คือ ต่อมลูกหมากโต และการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากความเครียด
ต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบได้มากในผู้มีอายุเลย 50 ปีแล้ว ช่วงที่พบมากที่สุดคือ อายุ 60-80 ปี ประมาณ 77.5%
อาการ ในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ทั้งนี้ เพราะมีภาวะคั่งของเลือด ที่ท่อปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก ทำให้รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อยผิดปกติ กลั้นไว้ได้ไม่นาน เมื่อต่อมโตมากขึ้น หลอดปัสสาวะถูกบีบแคบลง เกิดอาการถ่ายปัสสาวะขัด ท่อปัสสาวะหย่อนลง ใช้เวลานานกว่าจะถ่ายสุด ต้องใช้แรงเบ่ง และเสียเวลานาน ถ่ายได้น้อยครั้งถ่ายปัสสาวะสะดุด นานเข้าอาจมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะมาก ความทนต่อการถ่ายมีสูงขึ้น อาการรู้สึกปวดถ่ายบ่อยๆ แต่จะถ่ายน้อยลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
สาเหตุ ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนในวัยสูงอายุ หรือสืบเนื่องมาจากการติดเชื้อ ของทางเดินปัสสาวะ
การรักษา รักษาได้โดยวิธีผ่าตัด
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากความเครียด การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือควบคุมการถ่ายปัสสาวะไม่ได้ เป็นสภาพที่พบได้เป็นปกติในภาวะ เช่น ไอ หัวเราะ หรือปวดถ่ายเต็มที่ ซึ่งมักจะพบได้ในผู้หญิง สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้ ยังหาเหตุผลไม่ได้ นอกจากเชื่อว่าเป็นโรคของระบบประสาท หรือโรคเฉพาะของทางเดินปัสสาวะ
การป้องกันและข้อควรปฏิบัติ
1. จำนวนน้ำที่ได้รับและการถ่ายปัสสาวะอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ โดยดื่มน้ำในปริมาณที่มากพออย่างน้อย 6-8 แก้ต่อวัน
2. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะคราวละนานๆ เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะปิดตัวและไม่มีแรงหดตัว พอเวลาไปปัสสาวะไม่ออกพบบ่อยๆ ในผู้ชายสูงอายุที่เดินทางโดยรถยนต์ เมื่อลงจากรถปัสสาวะไม่ออก
ยาที่ระงับการหดเกร็งของกระเพาะอาหารที่ใช้ควบกับโซดา หรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร ในรายที่เป็นโรคกระเพาะอาจทำให้ปัสสาวะลำบาก จนถึงปัสสาวะไม่ออก
ยาที่ใช้ในโรคปวดหลังบางชนิดทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้เช่นกัน ยาดังกล่าวเมื่อกินไปแล้ว จะทำให้คอแห้ง เพราะมีน้ำลายออกน้อย ผู้ที่มีอาการปัสสาวะลำบากควรหลีกเลี่ยงยาดังกล่าว
กรมกิจการผู้สูงอายุ ที่อยู่ อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชั้น 6
เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 ช่องทางการติดต่อ ผส. © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ วันนี้ : 3,023 เดือนนี้ : 130,532 ปีนี้ : 130,532 (รองรับการสนับสนุน Internet Explorer 9.0 ขึ้นไป หรือ Google chrome 80.0 ขึ้นไป)
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ภาวะนี้ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการแสดงของความผิดปกติ มักพบในผู้หญิง
สาเหตุ ยังหาสาเหตุที่แน่นอนไม่ได้ เชื่อว่าเกิดจาก
ข้อมูลติดต่อหน่วยงาน
หมายเลขโทรศัพท์ 02-659-6811
อีเมล์ [email protected]เมนู
นโยบาย