โรคสะเก็ดเงิน ปัญหาผิวหนังและการดูแล
โรคสะเก็ดเงิน ปัญหาผิวหนังและการดูแล
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือการที่เซลล์ผิวผิดปกติอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนคือผิวหนังอักเสบเป็นขุยสีขาว โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลอาการไม่ให้กำเริบ หรือรุนแรงขึ้นได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรงจะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
โรคนี้ไม่ปรากฏสาเหตุของการเกิดอย่างชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าเป็นข้อบกพร่องของภูมิคุ้มกันของร่างกายในส่วนเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้สาเหตุของโรคนี้อาจเกิดได้จากพันธุกรรมอีกด้วย หากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคทางผิวหนังจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงยังมีอีกหลายข้อ ได้แก่
- ผลข้างเคียงของการติดเชื้อ HIV
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการความดันสูง หรือโรคหัวใจ
- เกิดจากความเครียดมากจนเกินไป
- ผิวหนังได้รับความเสียหายทั้งรอยแผลจากวัตถุ การแกะ หรือการเกาจนเป็นแผล เป็นต้น
ถึงแม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจะดูค่อนข้างมากแต่ทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย ผู้ป่วยในแต่ละรายอาจมีสาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงินที่แตกต่างกัน
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
เนื่องจากสาเหตุในการเกิดจะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลส่งผลให้อาการของโรคจะแตกต่างกันด้วย แต่โดยทั่วไปจะมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- อาการทางผิวหนัง : มีอาการปวดแสบปวดร้อน ผิวมีสีแดงเป็นรอยขุยสีขาว ผิวมีความแห้ง และอาจแห้งจนแตกเป็นเลือด
- อาการอื่น ๆ : เล็บมีลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างผิดรูป และหนามากขึ้น รวมไปถึงข้ออักเสบหากปล่อยไว้อาจพิการได้
ทดสอบเบื้องต้นด้วยตนเอง
หากมีความสงสัยว่าตนเองเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านการสังเกตอาการทั้ง 3 ข้อ ได้แก่
- มักตื่นกลางดึกเพราะปวดหลังส่วนล่าง
- มีประวัติอาการนิ้วและข้อมือบวม หรือกำลังบวมอยู่
- มีประวัติอาการปวดส้นเท้า หรือกำลังปวดส้นเท้าอยู่
ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินควรทำอย่างไร
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ส่งผลให้ผิวเกิดความแห้ง หากอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ได้แต่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว
- ไม่แกะเกาแผลหรือขุยบนผิวเพื่อป้องกันอาการที่รุนแรงมากขึ้น
- หากเป็นโรคหรือภาวะที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา
- หมั่นออกกำลังกาย บริโภคอาหารที่มีประโยชน์
- อย่าปล่อยให้ตนเองอยู่ในสภาวะความเครียด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
โรคที่สามารถเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นและพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง ได้แก่
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
- เกิดการติดเชื้อ
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นอกจากจะเกิดโรคร้ายเหล่านี้แล้ว โรคสะเก็ดเงินยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และความมั่นใจเนื่องจากรอยขุยสีขาวบนผิวอีกด้วย
โรคสะเก็ดเงินรักษาได้ไหม
โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะทำให้อาการไม่กำเริบหรือไม่เกิดความเสียหายเพิ่มเติม การรักษามีหลายวิธีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความหนักเบาของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ทั้งการทานยา หรือการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นต้น โดยการรักษาทุกวิธีต้องทำภายใต้คำแนะนำของแพทย์เนื่องจากตัวยาบางตัวอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่
ป้องกันโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร
เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน การป้องกันจึงทำได้อย่างยากลำบากทำได้เพียงพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง หากมีอาการผิวหนังผิดปกติให้รีบเข้าพบแพทย์อย่าปล่อยทิ้งไว้ นอกจากนี้การดูแลตนเองทั้งการทานอาหาร และการออกกำลังกายยังเป็นวิธีพื้นฐานในการป้องกันโรคเช่นกัน
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพอสมควรอีกทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองให้มากที่สุดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
อ้างอิง https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Psoriasis-detail