ชอบดื่มชาดื่มกาแฟ หรือจริง ๆ แล้วคุณติดคาเฟอีน

ชอบดื่มชาดื่มกาแฟ หรือจริง ๆ แล้วคุณติดคาเฟอีน
วันที่ 12 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,544 ครั้ง | โดย กพร.

ชอบดื่มชาดื่มกาแฟ หรือจริง ๆ แล้วคุณติดคาเฟอีน

อยากดื่มอะไรหวาน ๆ อยากดื่มกาแฟทุกเช้าจะได้มีแรงทำงาน ถ้าหากความคิดเหล่านี้ตามหลอกหลอนเราทุกวันนั่นอาจเป็นสัญญาณของ “การติดคาเฟอีน” ทำให้เราไม่สามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มเหล่านั้นได้ เช่น กาแฟ โกโก้ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม หรือแม้แต่ช็อกโกแลต แต่ถ้าเมื่อไหร่เราต้องการเลิกดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้แบบหักดิบจะส่งผลกระทบตามมา เช่น อาการปวดหัว ไม่มีสมาธิ และอ่อนเพลีย

 

สารคาเฟอีนคืออะไรทำไมต้องมีในเครื่องดื่มบางประเภท

 

สารคาเฟอีนเป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดกาแฟ และยังพบได้ในใบชา หรือเมล็ดโกโก้ วัตถุดิบเหล่านี้ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารได้อีกหลายประเภทที่เราคุ้นชินกันดี นอกจากจะเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่มีรสหวานโดยทั่วไป เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชาต่าง ๆ นมช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อ

 

นอกเหนือจากเครื่องดื่มแล้วขนมที่มีส่วนผสมของโกโก้เองก็ยากที่เราจะหลีกเลี่ยงได้ เช่น เค้กโกโก้ เค้กช็อกโกแลต หรือแม้แต่นมก็ยังใช้ส่วนผสมที่ว่าด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะกล่าวว่าคาเฟอีนคือสิ่งที่เราต้องเจอเป็นปกติคงจะไม่ผิดนัก

 

ทำไมสารคาเฟอีนทำให้เราไม่ง่วงนอน

 

การดื่มกาแฟทำให้ไม่ง่วงเหมาะกับคนวัยทำงานที่ไม่อยากอยู่ในอาการหลับใหล โดยคาเฟอีนเป็นสารที่ซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และจะไปทำปฏิกิริยากับสารความง่วงในร่างกายให้ทำงานได้น้อยลง (สารอะดีโนซีน) ส่งผลให้เกิดการตื่นตัว โดยปกติแล้วกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีหลังดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

 

ติดกาแฟ

 

ดื่มกาแฟเท่าไหร่ถึงเสี่ยงติดคาเฟอีน

 

ไม่ควรดื่มเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณได้เท่ากับแก้วเล็ก 8 ออนซ์ 3-4 แก้ว นอกจากนี้หากดื่มต่อเนื่องทุกวันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดคาเฟอีนได้ ทำให้มีความต้องการดื่มกาแฟ หรือทานอาหารที่มีคาเฟอีนทุกวัน โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

 

  • เริ่มดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกว่าการดื่มเท่าเดิมไม่ได้ช่วยอะไร อาการนี้เรียกว่า “ภาวะดื้อคาเฟอีน”
     
  • หากวันไหนไม่ดื่มจะส่งผลให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และต้องการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เรียกว่า “ภาวะถอนคาเฟอีน”

 

นอกจากอาการที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอาการอันตรายที่กำลังเตือนว่าร่างกายของเรารับคาเฟอีนเกินขนาด ได้แก่ อาการเหงื่อแตก ใจสั่น ปวดท้อง คลื่นไส้ นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก และตรวจพบความดันโลหิตสูง อาการเหล่านี้คือ “ภาวะพิษจากคาเฟอีน” หากลดการดื่มคาเฟอีนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรเข้าพบแพทย์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

 

อยากเลิกกาแฟเลี่ยงคาเฟอีนต้องทำอย่างไร

 

วิธีที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงคือการค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มกาแฟ หรือลดอาหารที่มีคาเฟอีนทีละน้อย อย่าใช้การหักดิบ จนสุดท้ายจะสามารถเลิกกาแฟไปได้เอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น

 

  • ดื่มกาแฟชนิดไม่มีคาเฟอีนทดแทนระหว่างเลิกได้
     
  • ดื่มน้ำช่วยเพื่อขับสารพิษที่อยู่ในร่างกาย
     
  • ออกกำลังกายเพื่อลดอาการอ่อนเพลียระหว่างการเลิกดื่มคาเฟอีน

 

ถ้าหากเราเป็นคนที่จำเป็นต้องดื่มกาแฟ ให้ดื่มเฉพาะในเวลาที่รู้สึกง่วงนอนเท่านั้น และใน 1 วันไม่ควรดื่มมากกว่า 2 แก้ว จึงจะนับว่าไม่เสี่ยงต่อการติดคาเฟอีน

 

อ้างอิง  https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/coffee-caffeine