วัณโรคติดต่อได้กับอาการไอเรื้อรัง
วัณโรค (Tuberculosis) เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ผ่านการไอ จาม ยิ่งหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยหรือพื้นที่เสี่ยงจะยิ่งง่ายต่อการแพร่ระบาด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรังมีเลือดปนออกมา เจ็บหน้าอกเวลาไอ โรคร้ายนี้สามารถแพร่กระจายจนกลายเป็นโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง หรือวัณโรคกระดูก เป็นต้น สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลจากแพทย์
วัณโรคมีสาเหตุมาจากอะไร
โรคนี้เป็นโรคติดต่อถ้าหากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายที่แข็งแรงจะเสี่ยงการติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ โดยเชื้อตัวนั้นมีชื่อว่า “ไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส” ที่กระจายอยู่ในอากาศ ระบาดผ่านการไอ จาม แม้แต่การหายใจของผู้ที่มีเชื้อ โดยผู้ที่สุ่มเสี่ยงมีดังนี้
- อยู่ในพื้นที่การระบาดวัณโรค
- เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
- มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือเป็นพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น
- เด็กหรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น
โดยวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ เช่น สมอง กระดูก เป็นต้น แต่ส่วนมากจะพบได้มากในปอด ก่อนจะมีการแพร่เชื้อไปยังอวัยวะอื่นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
อาการของผู้ป่วยวัณโรค
หากร่างกายได้รับเชื้อแล้วจะไม่แสดงอาการในทันที แต่จะใช้เวลาพอสมควรอาจนานตั้งแต่สัปดาห์จนถึงปีก่อนจะปรากฏอาการที่สังเกตได้ชัดเจนออกมา โดยจะแบ่งออกได้ ดังนี้
- ระยะแฝง (Latent TB) : เป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่งรับเชื้อโรคเข้าไป โดยจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา หากถูกตรวจพบ แพทย์อาจพิจารณารักษาได้ตั้งแต่ระยะนี้ ในช่วงระยะนี้หากร่างกายอ่อนแอจะทำให้เข้าสู่ระยะต่อไป
- ระยะแสดงอาการ (Active TB) : เมื่อเชื้อโรคเริ่มแพร่กระจาย และร่างกายอ่อนแอจะทำให้แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน คือ มีอาการไอเรื้อรังมีเลือดปนออกมา เจ็บหน้าอกเวลาไอ มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง
หากพบว่าตนเองมีอาการที่เข้าข่ายตามที่กล่าวไปควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันทีไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจากอาการแทรกซ้อนของวัณโรค เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการกระจายเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ๆ ถือว่าอันตรายอย่างมาก
ความเชื่อของคนไทยไอเรื้อรัง 100 วันต้องเป็นวัณโรค
อาการไอของผู้ติดเชื้อจะไออย่างต่อเนื่องประมาณ 8 สัปดาห์ แต่ต่อให้ไอมากหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวัณโรคเสมอไป ต้องดูอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และไม่ว่าอย่างไรการไอเรื้อรังเป็นเวลานานก็ควรที่จะต้องเข้าพบแพทย์อยู่ดี ไม่ควรปล่อยไว้นาน
รักษาวัณโรคได้อย่างไร
ทำได้ด้วยการทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการดูแลตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยยาที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มักจะส่งผลข้างเคียงพอสมควรโดยเฉพาะตับ โดยจะแสดงผลข้างเคียงที่อันตราย ดังนี้
- อาการตัวเหลือง
- มีไข้หลายวัน
- ไม่อยากอาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- มีปัญหาด้านการหายใจและการมองเห็น
- ใบหน้าและคอบวม
หากพบอาการดังกล่าวให้รีบเดินทางมาหาแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา
ป้องกันวัณโรคได้ไม่ยาก
ทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ที่สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีเชื้อ และตรวจสุขภาพโดยเฉพาะการเอกซเรย์ปอดเพื่อหาความเสี่ยง หรือฉีดวัคซีนป้องกันซึ่งมักจะถูกฉีดตั้งแต่เด็กแล้ว
วัณโรคเป็นโรคที่มีอาการทุกข์ทรมานจากการไอเรื้อรังอย่างมาก ระยะเวลาในการรักษาก็ต้องใช้พอสมควร เพื่อความปลอดภัยการรู้เท่าทันความเสี่ยงของร่างกายด้วยการเอกซเรย์ปอดจึงสำคัญอย่างมาก
อ้างอิง https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Tuberculosis-detail