ไขทุกปัญหาอาการตะคริว

ไขทุกปัญหาอาการตะคริว
วันที่ 12 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 27,420 ครั้ง | โดย กพร.

“ตะคริว” เกิดขึ้นได้หลายช่วงเวลาแม้ในช่วงที่ไม่ควรเกิดขึ้น จนอาจนำอันตรายมาสู่เราได้ เช่น ตอนว่ายน้ำ หรือตอนวิ่ง โดยอาการดังกล่าวเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้อาการตะคริวยังสามารถเกิดได้หลายจุดนอกจากบริเวณขา เช่น หลัง หรือหน้าท้อง และเนื่องจากการเกิดตะคริวแต่ละจุดจะทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนไหวในจุดนั้น ๆ เราจึงจำเป็นต้องรู้จักอาการนี้ทั้งสาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

 

ตะคริวเกิดจากอะไร

 

สำหรับการเกิดนั้นมีด้วยกันหลายประการจนยากที่จะระมัดระวังได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราไม่สามารถควบคุมการเกิดตะคริวได้ สาเหตุที่ว่านั้น ได้แก่

 

  • กล้ามเนื้อที่ทำงานหนักมากเกินไประหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • ระบบไหลเวียนเลือดที่ไปยังกล้ามเนื้อเกิดการหยุดเฉียบพลัน
  • ประสาทเกิดการทำงานผิดปกติในขณะนอนหลับ
  • เกิดได้จากโรคบางโรค เช่น โรคตับ และโรคไต
  • ร่างกายเกิดสภาวะผิดปกติ เช่น ร่างกายขาดเกลือแร่ ร่างกายมีสารพิษหรือเกิดการติดเชื้อ
  • เกิดจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาราโลซิฟีน เป็นต้น

 

นอกจากที่กล่าวไปแล้วภาวะการขาดแคลเซียมในร่างกายยังเป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตะคริวได้เช่นกัน จึงทำให้สตรีที่กำลังตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากในช่วงนั้นร่างกายจะมีปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำ และอาจเกิดจากภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น ตำแหน่งของมดลูก หรือการมีถุงซีสต์ เป็นต้น

 

อาการของตะคริว

 

อาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้ออย่างมาก หากสัมผัสจะพบว่ามีก้อนเนื้อบริเวณนั้น โดยปกติจะสามารถหายได้ภายในเวลา 2-15 นาที ในบางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรังอยู่และจะกินเวลาเป็นวันก่อนจะหายอย่างสมบูรณ์

 

ตะคริวเกิดขึ้นที่บริเวณใดได้บ้าง

 

หลายคนอาจชินกับการเกิดภาวะนี้บริเวณขาจนเข้าใจว่าตะคริวไม่สามารถเกิดขึ้นที่อื่นได้ แต่ในความเป็นจริงตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด และแต่ละจุดยังสำคัญต่อการเคลื่อนไหว ได้แก่

 

  • ตะคริวบริเวณหน้าท้อง จากโรคที่เกิดขึ้นในบริเวณท้อง เช่น ระบบย่อยอาหารอาจเกิดการติดเชื้อ หรือเกิดจากการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อท้องได้ด้วยเช่นกัน
  • ตะคริวบริเวณหลัง เกิดจากการใช้แรงในขณะก้มมากเกินไปทั้งก้มยกของหนัก หรือการก้มนาน ๆ จะส่งผลให้เกิดอาการตะคริว หรืออาการปวดได้ นอกจากนี้อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณว่ากระดูกสันหลังมีความผิดปกติอีกด้วย
  • ตะคริวบริเวณขา พบได้มากจากการออกกำลังกาย เนื่องจากการใช้กล้ามเนื้อเกินความเหมาะสมจนเกิดอาการเกร็ง หรืออ่อนล้าโดยอาการที่อันตรายที่สุดคือ การเป็นตะคริวขณะว่ายน้ำ

 

ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

 

โดยปกติแล้วเมื่อเป็นตะคริวจะสามารถหายได้เองในเวลาต่อมา แต่เราสามารถบรรเทาอาการ หรือช่วยให้หายได้เร็วมากขึ้นได้ ดังนี้
 

  • ยืดกล้ามเนื้อ หรือนวดบริเวณที่เป็นตะคริวประมาณ 1-2 นาที หากอาการยังไม่หายดีให้ค่อย ๆ นวดไปเรื่อย ๆ
  • หากเป็นสตรีตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์เพื่อตรวจครรภ์ตามกำหนด หากเกิดอาการตะคริวให้บอกแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไปเนื่องจากอาการตะคริวอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
  • หากเกิดขึ้นระหว่างนอนหลับให้เปลี่ยนท่านอน และยืดขาตรงกระดกปลายเท้าประมาณ 5 วินาที ทำวน 5-10 รอบ ก่อนจะนวดบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะหาย

 

ตะคริว

 

ว่ายน้ำแล้วเป็นตะคริวควรทำอย่างไร

 

ระหว่างว่ายน้ำหากเป็นตะคริวจะเพิ่มความเสี่ยงการจมน้ำ หากอยู่คนเดียวอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนลงน้ำควรออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อก่อนว่ายน้ำ เนื่องจากขาเป็นส่วนสำคัญในการว่ายน้ำ โดยท่าออกกำลังกายสามารถทำได้หลายท่าโดยเน้นไปที่แขน และขา เช่น ท่ายืดขา กระโดดตบ หรือวิ่งเหยาะ ๆ รอบสระน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเป็นตะคริวสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ดังนี้

 

  • น่องด้านหลัง ให้หงายตัวขึ้น ใช้มือพยุงน้ำให้ลอย และยกขาขึ้นเหนือน้ำเข้าหาใบหน้า
  • หลังขาอ่อน พยายามอยู่ในท่านอนคว่ำ และพับข้อเท้าเข้าหาด้านหลัง
  • ข้อเท้า นอนหงายและให้เท้าอยู่บนผิวน้ำจากนั้นให้นวด หรือหมุนเบา ๆ ที่ข้อเท้า

 

ทุกครั้งที่เป็นตะคริวขณะว่ายน้ำ เราต้องตั้งสติ และพยายามพาตัวเองไปในที่น้ำตื้น และต้องทำให้ตัวของเราลอยน้ำอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากหากเราตื่นกลัวและไม่สามารถควบคุมตนเองได้จะทำให้เราจมน้ำนั่นเอง

 

ว่ายน้ำหลังกินข้าวทำให้เป็นตะคริวจริงหรือไม่

 

การกินไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงในการเกิดตะคริว แต่ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากการทานอาหารในปริมาณมากจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดถูกแบ่งการทำงานไปที่การย่อยอาหารมากขึ้น เป็นผลให้กล้ามเนื้อที่ออกกำลังกายอาจมีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอ่อนแรง หรือขาดเลือด และเป็นตะคริวได้ ดังนั้นก่อนว่ายน้ำควรหลีกเลี่ยงการทานอาหาร ถือเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดตะคริวที่เราสามารถทำได้

 

การป้องกันตะคริวที่สามารถทำได้

 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ปลา และนม ส่วนในสตรีตั้งครรภ์ให้เน้นโปแตสเซียมและแมกนีเซียม เช่น ผักโขม หรือลูกเกด เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และงดการดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
  • ยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อก่อนเริ่มออกกำลังกาย
  • ระมัดระวังการยกของหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หลังการทานอาหาร
  • นำหมอนรองขาให้สูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร (สำหรับผู้ที่เสี่ยงเป็นตะคริวตอนนอน)

 

ตะคริวเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเรารู้วิธีรับมืออย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเป็นตะคริว

 

อ้างอิง  https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Muscle-Cramp