โรคตาในผู้สูงอายุ

โรคตาในผู้สูงอายุ
วันที่ 11 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,185 ครั้ง | โดย กพร.

โรคตาในผู้สูงอายุ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็เกิดการเสื่อมถอยตามอายุ ดวงตาก็เช่นกัน ยิ่งอายุก้าวเข้าสู่เลข 40 ด้วยแล้ว ปัญหาตาฝ้าฝางคงเป็นปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นในวัยนี้จึงควรได้รับการตรวจตา เพื่อหาความผิดปกติเนื่องจากโรคบางโรคจะพบมากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง หากมีความผิดปกติจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

4 ปัญหาดวงตาที่พบบ่อยกับผู้สูงอายุ

  1. ต้อกระจก เป็นปัญหาโรคตาที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา ดวงตาของคนเราจะมีระบบการทำงานคล้ายกับกล้องถ่ายรูป เลนส์แก้วตาคือระบบเลนส์ที่ทำหน้าที่โฟกัสภาพ ซึ่งควรจะต้องใส แต่เมื่อเลนส์แก้วตาขุ่นมัว ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคน จะทำให้ดวงตามัวลงช้าๆ โดยไม่มีอาการปวดหรือการอักเสบในตา อาจมองเห็นภาพซ้อนหรือภาพบิดเบี้ยว บางรายขับรถลำบากเวลากลางคืน เมื่อเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ชะลอและป้องกันจากปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจก โดยหลีกเลี่ยงแสงแดด รังสี และการใช้ยาหยอดตาชนิดที่มีสารสเตียรอยด์ และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อดวงตา รวมถึงเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
    วิธีการรักษา ในปัจจุบันการรักษาต้อกระจกได้ผลดีมาก ซึ่งทำโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงอัลตร้าซาวด์สลายต้อกระจก คนไข้ก็จะกลับมาเห็นภาพคมชัดขึ้น
  2. โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา  ในภาวะนี้จะเกิดขึ้นร่วมกับโรคเบาหวาน โดยมักจะเกิดขึ้นได้ในคนที่เป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานาน อาการจะยิ่งแย่ลงที่ในกรณีที่คุมน้ำตาลไม่ดี แต่ถ้าคุมน้ำตาลได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานขึ้นตาจะน้อยลง ทั้งนี้ในคนที่เป็นหวานก็ควรเข้ารับการตรวจเช็คดวงตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากการตรวจพบเบาหวานขึ้นตาในระยะแรกจะสามารถรักษาได้ผลดีกว่าเมื่อเป็นมากแล้ว
    วิธีการรักษา ถ้าได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำและพบเบาหวานขึ้นตาตั้งแต่อยู่ในระยะที่ไม่รุนแรงมากนักก็จะใช้การรักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อไม่ให้โรคดำเนินไปจนพบมีเลือดออกในตาหรือตาพร่ามัวมาก เนื่องจากผลการรักษาจะได้ผลดีกว่าและยุ่งยากน้อยกว่า
  3. โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ ( AMD : Age Related Macular Degeneration) โรคนี้อาจเกิดจากการทำลายบริเวณจุดศูนย์กลางจอรับภาพโดยไม่ทราบสาเหตุการเสื่อมที่แน่นอน จะเกิดในคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไปหรือมากกว่านั้น ลักษณะอาการของโรค คือ จะเห็นภาพมัว บิดเบี้ยว สีจางลง มีปัญหาในการอ่านหรือจำหน้าคน เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ
    วิธีการรักษา โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุไม่สามารถรักษาหายขาด แต่จะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคนี้ได้ด้วยการให้วิตามินเสริม อาทิ C, E, Zinc, lutein, zeaxanthin การใช้แว่นที่มีการกรองรังสี Ultraviolet เป็นประจำจะช่วยลดลงและชะลอการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ตัวผู้สูงอายุเองควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี
  4. โรคต้อหิน เป็นโรคของดวงตาที่พบบ่อยชนิดหนึ่งในผู้สุงอายุ และมีอันตรายมากถึงขั้นบอดสนิท โรคนี้เกิดจากการมีความดันที่ตาสูง โดยอาจจะสูงมากหรือสูงเกินไปต่อสุขภาพตาของบุคคลนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเกิดการสูญเสียของลานสายตาและขั้วประสาทตา คนกลุ่มนี้มักประสบปัญหาขับรถเฉี่ยวชนได้ง่าย เดินสะดุด หรือชนของที่อยู่ทางด้านข้างได้ง่าย เพราะว่าไม่เห็นทางด้านข้าง ถ้าเป็นมากๆ ก็จะทำให้เกิดการพร่ามัว เห็นภาพเบลอ หรือมองเห็นแคบลงคล้ายมีอะไรบัง เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ปวดเบ้าตาลึกๆ และปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน หรือสูญเสียการมองเห็นไปได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ไม่ปวด ดังนั้นการตรวจคัดกรองและให้การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะสามารถช่วยไม่ให้เกิดการตาบอดได้ วิธีการรักษาในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สำหรับการรักษาโรคต้อหินก้าวหน้าไปมาก นอกจากใช้ยาแล้ว เลเซอร์เอสแอลที (Selective Laser Trabeculoplasty) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมใช้ในการรักษา เป็นการใช้เลเซอร์ที่มีพลังงานต่ำๆ ไปทำปฎิกิริยากับเนื้อเยื่อเฉพาะบริเวณ มีผลทำให้ของเหลวไหลออกจากดวงตาได้ดีขึ้น ความดันลูกตาจึงลดลง โดยไม่ก่อให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียงหรือเกิดน้อยมาก จึงเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและได้รับความนิยมมากในขณะนี้

 

อ้างอิง  https://shorturl.asia/brCEY