เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร

เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร
วันที่ 29 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,644 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร

 

จากข้อมูลของ United Nation World Population Ageing พบว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยระบุว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะเป็นสังคมผู้อายุเต็มรูปแบบ เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 20%


โดยตัวเลขของประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เพราะประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและด้านการแพทย์ที่ช่วยให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง


เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือรายได้ประชาชาติน้อยลง หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ


อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานว่าคนมักเข้าใจผิดว่าสังคมสูงอายุทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตัวอย่างที่มักหยิบยกขึ้นมา คือ กรณีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงหลังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมาก ประมาณ 1 – 2% แต่แท้จริงแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของญี่ปุ่น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดวิกฤติฟองสบู่ในปี 2533 ตามมาด้วยการเกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 2540 และวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าสังคมสูงอายุจะต้องนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำเสมอไป


กระนั้นก็ดี หากพิจารณาตลาดหุ้นซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจมักจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยดัชนีตลาดหุ้นนิเกอิ เคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 20,000 จุด มากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และไม่เคยขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุดที่เคยทำไว้ที่ระดับ 38,000 จุด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้น จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับความน่าสนใจลดลงมากน้อยแค่ไหน

สำหรับตลาดหุ้นไทย  หากวิเคราะห์ดูแล้ว เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นสู่ระดับ 1,838 จุด ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เปิดซื้อขายครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2518 อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยปรับลดลงและเคลื่อนไหวในรูปแบบ Sideway ระดับ 1,600 – 1,700 จุด โดยปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ขณะเดียวกันธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และมีแนวโน้มว่าจะปรับลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน


จากปัจจัยเชิงลบดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง เนื่องจากภาคการส่งออกปรับลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า จึงส่งผลต่อบริษัทส่งออก ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมปรับลดลง ขณะเดียวกันเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของตลาด (Market Risk) ที่เพิ่มสูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะหากสงครามการค้ายุติ Brexit มีความชัดเจน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลดลง จะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในระดับที่ดี ผลที่ตามมา คือ ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัว บริษัทจดทะเบียนกลับมาสร้างผลกำไร ก็ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง  


โดยผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกับการลงทุนและการออม มีแนวโน้มที่จะลดลงเนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้จ่ายจากเงินออมสะสมของตัวเอง ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้เงินออมลดลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความระมัดระวังในการนำเงินไปลงทุนมากขึ้น แปลว่า จะเน้นการออมกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้น เช่น ฝากออมทรัพย์ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณทั้งแบบภาคบังคับ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และแบบสมัครใจ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม RMF การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ


โดยระบบการออมเหล่านี้ จะนำเงินสมาชิกหรือเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนตามนโยบายที่แต่ละกองทุนได้ประกาศเอาไว้ และหนึ่งในนั้นก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ลงทุนจะไม่ได้ลงทุนหุ้นโดยตรง แต่ก็ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนเหล่านี้ จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ


ขณะเดียวกัน ด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจทำให้ผู้สูงวัยบางส่วนที่ออมเงินผ่านสินทรัพย์เสี่ยงต่ำซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ ตัดสินใจแบ่งเงินบางส่วนเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น โดยเน้นลงทุนหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น ประกอบกับปัจจุบันทุกภาคส่วนในตลาดทุนมีบทบาทมากขึ้นในการเพิ่มระดับการออมเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงการมีผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การออมในระยะยาว ก็ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผ่านตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัจจุบันก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลงหรือตกต่ำ เนื่องจากจำนวนนักลงทุนในวัยแรงงานลดน้อยลง เพราะปัจจุบันยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจต่อไป

ที่มา : https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/retirement-plan/ageing-society.html