แก่...แต่(ขอให้)มีกิน

แก่...แต่(ขอให้)มีกิน
วันที่ 29 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,643 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 แม้จะพบว่าแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุจะมาจากบุตร แต่เมื่อเทียบกับการสำรวจก่อนหน้าเมื่อปี 2550 จะเห็นว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่พึ่งพิงรายได้จากบุตรลดลง ขณะที่รายได้จากการทำงานเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับรายได้จากเบี้ยยังชีพถ้าการพึ่งพิงรายได้จากบุตรลดลงเรื่อยๆ “ว่าที่ผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรช้า คงต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า “แก่ไปใครจะเลี้ยง”

แหล่งรายได้ในวัยชรา

นอกจากรายได้จากบุตรและการทำงานแล้ว ผู้สูงอายุยังมีแหล่งรายได้อื่นๆ อีก ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่มีรายได้จากบุตรและไม่ได้ทำงานอีกแล้ว (เว้นแต่เป็นข้าราชการบำนาญที่มีรายได้ประจำจากเงินบำนาญ) บอกได้เลยว่า รายได้จากการออมและการลงทุนจะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะเป็นคนแก่มีกรรมหรือคนแก่มีกิน

เราจะกลายเป็นคนแก่มีกรรมแน่ๆ ถ้าเงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตการทำงานไม่สามารถอยู่กับเราไปจนตลอดชีวิตได้ โดยต้นเหตุที่ทำให้เงินหมดก่อนที่เราจะหมดลมหายใจมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ

เงินออมไว้น้อยเกินไป

ถ้าต้องการจะใช้ชีวิตสบายๆ แบบคนแก่ที่พอมีพอกิน เราต้องเริ่มวางแผนเก็บออมไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพราะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเก็บออมให้เพียงพอสำหรับชีวิตอีก 20-30 ปีหลังจากเกษียณ

ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าหลังจากเกษียณอยากจะใช้เงินสักเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ไปอีก 25 ปี หลังจากเกษียณ เราจะต้องมีเงินอย่างน้อยๆ 4.5 ล้านบาท ในวันเกษียณ

เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เกษียณให้รีบกลับไปทบทวนการวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมตัวเป็นคนแก่ที่มีกิน แต่คนที่เกษียณแล้วและไม่มีทางที่จะย้อนเวลากลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีต สิ่งที่พอจะทำได้ในตอนนี้ คือ

ยืดเวลาเกษียณและทำงานให้นานขึ้น ส่วนหนึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มจำนวนเงินออมแล้ว ยังทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอด้วย และอาจจะมองหารายได้จากแหล่งอื่นๆ ที่เราอาจจะมองข้ามไป เช่น เงินสงเคราะห์คนชรา เงินกองทุนประกันสังคม

ใช้มากเกินไปในแต่ละเดือน

แม้ว่ารายจ่ายหลายอย่างจะลดลง แต่รายจ่ายบางอย่างจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าในแต่ละเดือนเราใช้เงินมากเกินกว่าความสามารถที่มีอยู่ก็คงต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย หรืออาจจะเลือกย้ายไปอยู่ที่ที่มีค่าครองชีพต่ำลง

ลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยเกินไป ทำให้โอกาสได้ผลตอบแทนน้อยตามไปด้วย

สำหรับเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต จะนำไปทำอะไรก็ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ดังนั้นหลักการลงทุนในวัยหลังเกษียณจึงควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเงินต้นและผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม หากเราเน้นไปที่การรักษาเงินต้นมากจนเกินไป หรือหวังแค่ฝากเงินกินดอกเบี้ยอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้เงินอยู่กับเราไปจนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นแม้จะเกษียณแล้วก็ต้องลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้บ้าง

ช่องทางลงทุนเมื่อสูงวัย

การลงทุนเมื่อชีวิตเข้าสู่วัยชราควรจะแบ่งเงินออกเป็นหลายส่วน โดยเลือกลงทุนทั้งสินทรัพย์ที่สบายใจว่าเงินต้นจะไม่หดหายไปไหน ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และอีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ทุกวันนี้มีคำแนะนำเรื่องการแบ่งเงินลงทุนให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยมีอยู่หลายทฤษฎี แต่คำแนะนำหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การลงทุนที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ตลอดชีวิต” (The Income for Life Model) ของ ฟิลลิป ลูบินสกี นักวางแผนทางการเงินชาวอเมริกัน โดยวิธีการลงทุนของเขาจะแบ่งเงินออกเป็น 6 ก้อน สำหรับสร้างรายได้ในแต่ละช่วง

ก้อนแรก เป็นการลงทุนสำหรับปีที่ 1-5 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 28% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ ไปลงทุนสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนแน่นอน เช่น ประกันแบบบำนาญ พันธบัตร และตราสารหนี้ ซึ่งเงินก้อนนี้คาดหวังผลตอบแทนประมาณ 2% ต่อปี

ก้อนที่สอง สำหรับปีที่ 6-10 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 26% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ จะเน้นลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ ซึ่งหวังผลตอบแทน 4% ต่อปี

ก้อนที่สาม สำหรับปีที่ 11-15 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 20% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ โดยจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกนิด โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเท่ากับตลาดหุ้น เช่น กองทุนรวมดัชนีหุ้น ซึ่งหวังผลตอบแทน 6% ต่อปี

ก้อนที่สี่ สำหรับปีที่ 16-20 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 13% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ โดยจะลงทุนในหุ้น แต่จะเน้นเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อคาดหวังให้เงินลงทุนเติบโตปีละ 8%

ก้อนที่ห้า สำหรับปีที่ 21-25 แบ่งเงินออกมา 7% เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้นอีก โดยลงทุนหุ้นขนาดเล็ก คาดหวังผลตอบแทน 10% และ

ก้อนสุดท้าย สำหรับปีที่ 25 ขึ้นไป จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ หุ้นขนาดเล็ก ซึ่งแบ่งเงินออกมาเพียง 6% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยหวังว่าเงินก้อนนี้จะเติบโตปีละ 12% จนทำให้มีจำนวนมากพอสำหรับส่งต่อให้กับทายาท

แต่ถ้ารู้สึกว่าวิธีการแบ่งเงินลงทุนแบบนี้ยุ่งยากเกินไป ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งมีหลายกองทุนที่ออกแบบมาสำหรับคนในวัยหลังเกษียณโดยเฉพาะ ซึ่งการลงทุนจะมีทั้งส่วนที่ให้รายได้สม่ำเสมอและส่วนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมานิด เพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น

คนที่ยังไม่ชราก็อย่าชะล่าใจ เร่งเก็บออมและลงทุน เพื่อทำให้เป็นคนแก่มีกิน

ที่มา : https://www.posttoday.com/finance-stock/money/289225