กรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
ผลตอบแทน ความเสี่ยงและการลงทุนในหลักทรัพย์ ผลตอบแทนและความเสี่ยง เมื่อกล่าวถึงการลงทุนหลายคนจะคิดถึงการจัดหาเงินมาจำนวนหนึ่งและนำไปลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจที่ตนชอบหรือเชื่อว่าจะทำให้ตนร่ำรวยได้จากการค้าขาย ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้สูงวัยซึ่งมีสภาพร่างกายที่เกินกว่าวัยจะทำมาค้าขายก็คิดว่าเงินทองที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิตของการทำงานนั้นควรจะเอาไปลงทุนทำอะไรเพื่อให้งอกเงยเพิ่มขึ้น ซึ่งมิใช่การลงทุนค้าขายด้วยตนเอง ในความหมายนี้รวมความถึงการที่จะยังคงรักษาเงินที่มีอยู่เป็นฐานไว้ได้และมีดอกผลเกิดขึ้น โดยอายุที่ได้ชื่อว่าผู้สูงวัยทำให้ต้องคิดถึงเรื่องของการลงทุนที่รอบคอบ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาดไปแล้วโอกาสที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เพื่อสะสมเงินให้ได้เท่าเดิมนั้นทำได้ยากมาก การลงทุนของผู้สูงวัยจึงต้องเน้นให้น้ำหนักกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนของผู้อ่อนวัย ความเสี่ยงกับผลตอบแทนเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน การลงทุนทุกชนิดมีความสี่ยง ความจริงที่ต้องยอมรับคือความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง และความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็ต่ำด้วย นายมั่งมีเป็นนายทุนเงินกู้นอกระบบ เมื่อสมหญิงซึ่งเป็นเพื่อนบ้านขอกู้เงินเพื่อไปลงทุนค้าขายโดยไม่มีทรัพย์สินใดๆเป็นหลักประกันจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่เมื่อนายสมชายซึ่งเป็นพ่อค้าเช่นเดียวกันมาขอกู้เงินโดยมีสร้อยคอทองคำวางเป็นหลักประกันจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการปล่อยสินเชื่อแก่สมหญิงนั้น นายมั่งมีจะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินจากการให้กู้มากกว่าการปล่อยสินเชื่อให้แก่นายสมชาย กล่าวคือหากทั้งสมหญิงและสมชายประสบความล้มเหลวในการทำธุรกิจไม่สามารถชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ได้แล้ว นายมั่งมียังสามารถนำหลักประกันซึ่งเป็นสร้อยทองของนายสมชายไปขายเพื่อชดใช้หนี้ได้บ้างแม้จะไม่เต็มจำนวน ซึ่งกรณีของสมหญิงไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกัน จากกรณีข้างต้นดังกล่าวได้ว่านายมั่งมีลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ การให้กู้แก่สมหญิงซึ่งเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการกู้ของสมชายนั้นจึงต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เพื่อให้ได้เงินส่วนหนึ่งเป็นการชำระคืนเงินต้นและอีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้ ส่วนกรณีของสมชายนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะเน้นเป็นการเรียกผลตอบแทนมากกว่าเรียกคืนเงินต้น เพราะหากนายสมชายผิดนัดชำระหนี้ก็สามารถนำสร้อยทองที่ใช้เป็นหลักประกันออกขายเพื่อชดเชยเงินต้นได้ ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนได้ว่าความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันในทางบวก ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง (High Risk High Return) และความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำ (Low Risk Low Return) สถาบันการเงินเช่นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ทำหน้าที่รับฝากเงินจากผู้ที่มีเงิน เหลือใช้และนำไปให้ผู้ที่ขาดแคลนเงินกู้ยืม การปล่อยสินเชื่อของสถาบันทั้งสองแห่งจะมีเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดต่างกัน โดยภาพรวมแล้วธนาคารพาณิชย์จะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าบริษัทเงินทุน ต้องการหลักประกันที่มากกว่าบริษัทเงินทุนทำให้ธนาคารพาพาณิชย์มีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อน้อยกว่าบริษัทเงินทุน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบด้านดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้จะพบว่ามีอัตราต่ำกว่าของบริษัทเงินทุน เนื่องจากเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดน้อยกว่านั้นทำให้บริษัทเงินทุนต้องรับภาระความเสี่ยงที่สูงกว่า จึงต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ต้องรับมากขึ้นนั่นเอง