ธุรกิจผู้สูงวัยน่าลงทุน

ธุรกิจผู้สูงวัยน่าลงทุน
วันที่ 29 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,305 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ช่วงนี้ ผมได้คุยกับนักธุรกิจจากหลายสาขา หลายอุตสาหกรรม ธุรกิจที่เป็นกระแสและถูกพูดถึงมาก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย หลายท่านอาจทราบแล้วว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 7%) และในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง สิงคโปร์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนำหน้าไทยไปแล้ว ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย เมียนมา และอินโดนีเซีย ก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ผู้ประกอบการเห็นอะไรจากสถานการณ์นี้ไหมครับ

กลุ่มผู้สูงอายุ กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ แล้ว ทุกธุรกิจ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภคและบริการ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน เฟอร์นิเจอร์ สถานดูแล ธุรกิจการแพทย์ หรือการเดินทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีโอกาสเติบโตสูง

หากมองเฉพาะในไทย ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีศักยภาพเป็นเพราะจำนวนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในปี 2561 นี้จะเป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงอายุจะมากกว่าจำนวนประชากรวัยเด็ก และปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประชากรอายุ 65 ปี เป็น 14%) (ข้อมูล จากงานวิจัยของกรุงศรี : ก.ค. 60)

ประเด็นที่ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะมีมากกว่าประชากรวัยเด็กนี่สำคัญมาก เจ้าของธุรกิจสินค้าและบริการต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะความต้องการสินค้าสำหรับเด็กจะลดลง

ในขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และผู้สูงอายุไทยถือว่ามีศักยภาพในการใช้จ่ายอยู่พอสมควร

หากดูรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2557 ผู้สูงอายุที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 4.2% หรือราว4.2 แสนคน และจำนวนคนในกลุ่มนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการใช้จ่าย ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ตลาดผู้สูงอายุต่างชาติก็มีขนาดใหญ่ขึ้น และนิยมเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะค่าครองชีพไม่แพง อากาศไม่หนาว และมีความพร้อมให้บริการด้านสุขภาพ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และเมืองที่เป็นที่นิยม คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา นครราชสีมา (เขาใหญ่) ชะอำ และหัวหิน ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการเจาะตลาดผู้สูงอายุ จะต้องไม่ลืมตลาดต่างชาติกลุ่มนี้ แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องคำนึงถึงด้านความแตกต่างระหว่างชาวไทยและต่างชาติ เช่น ไซซ์ หรือขนาดของสินค้า รวมถึงรสนิยมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการบริโภคที่ต่างกัน

ผมมองว่าผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ เพราะรัฐบาลเองก็สนับสนุนนโยบายหลายอย่างเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การขยายเวลาให้ชาวต่างชาติอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ต้องการพำนักในไทย (Long-stay Visa) จากเดิมไม่เกิน 1 ปี เพิ่มเป็น 10 ปี เพื่อเอื้อให้ผู้สูงอายุต่างชาติมีระยะเวลาพำนักในไทยนานขึ้น และนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก โดยใช้จุดแข็งดึงดูดคือ บริการที่ดี ค่าใช้จ่ายไม่แพง สถานที่พักผ่อนหลากหลาย สถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล

ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มประเภท การศึกษารูปแบบและทิศทางการปรับตัวจากประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุก่อนไทย ก็เป็นเรื่องจำเป็น กรุงศรีฯ จึงจัดกิจกรรม “Krungsri Business Journey : Life-Care Business Opportunities” ในเดือน ก.ย.นี้ โดยผู้ประกอบการจะไปศึกษาดูธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และการให้บริการหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าถือว่าอยู่ในระดับที่ล้ำหน้ากว่าหลายประเทศมาก

โดยกรุงศรีฯเป็นบริษัทในเครือ MUFG ซึ่งมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งมากในญี่ปุ่น ทำให้สามารถอำนวยความสะดวก พาเข้าชมธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้

ดังนั้น จะได้ประโยชน์จากการไปศึกษาแบบแผนการทำธุรกิจ บริการ และสินค้าที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ เพื่อนำมาปรับใช้วางแผนธุรกิจได้ต่อไป

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-36374