เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ตอบโจทย์ประชากร

เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ตอบโจทย์ประชากร
วันที่ 31 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 9,912 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

คนที่เกิดในยุค 1960 ถึงวันนี้ ก็น่าจะอายุอยู่ราวๆ 60 หรือใกล้ 60 ปี ซึ่งกำลังจะกลายเป็นประชากรสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่ด้วยความทันสมัยและก้าวล้ำของเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนแก่ที่ยังไม่แก่ หรือที่เรียกว่า Young Old เรียกสั้นๆว่า Yold

YOLD เป็นคนในยุค Baby Boomers คือเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอัตราการเกิดสูงมากเป็นพิเศษ แต่กำลังจะกลายเป็นประชากรที่จะทรงอิทธิพลมากที่สุดในอนาคตอันใกล้

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศฝรั่งเศส สวีเดน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ต่อปี ในปี พ.ศ.2560 จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกมีประมาณ 963 ล้านคน คิดเป็น 13% ของประชากรทั่วโลก คาดว่าในปี พ.ศ.2573 จะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1,400 ล้านคนและจะเพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านคนในปี พ.ศ.2593

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกและถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society) โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรในประเทศ และอีก 10 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี พ.ศ.2573 ญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 30,000 คน หรือประมาณ 37.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยประเทศที่มีสถานการณ์ใกล้เคียงกันอีกประเทศหนึ่ง คือ เกาหลีใต้

ส่วนจีน ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจในเอเชีย ก็ประสบกับสถานการณ์โครงสร้างประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายลูกคนเดียว (One-child Policy) ซึ่งทำให้จำนวนประชากรรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยลง

ส่วนประเทศไทย มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุ เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเข้าสู่สังคมสูงวัยเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2565

การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเรียกกันว่าเศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy ซึ่งถือเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวของกับกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอันดับต้นๆ ในตลาดโลก

Silver Economy ถือเป็นตลาดใหม่ที่จะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน ดูแลความงาม บริการการรักษาพยาบาล รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น

จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้พบว่า คนอเมริกันอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมกันมีรายได้หลังจากหักภาษีแล้วเป็น 70% ของรายได้รวมหลังหักภาษีแล้วของคนทั้งประเทศ

โดยในปี 2018 ประมาณ 70% ของคนอายุ 50-65 ปี ใช้อินเตอร์เน็ต และมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปใช้อินเตอร์เน็ตถึง 38%

94% ของคนสูงอายุที่ใช้อินเตอร์เน็ต ใช้เพื่อรับ-ส่งอีเมล

77% ซื้อของออนไลน์

71% ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ

และ 70% ใช้อ่านข่าว

ประชากร YOLD ไม่เพียงแต่มีความแข็งแรงในทางร่างกาย ซึ่งวัดจากอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้นมากกว่า 20 ปีที่แล้ว การสำรวจหลายชิ้น ระบุว่า สุขภาพทางการเงินของคนกลุ่มนี้ ยังดีกว่ากลุ่มคนสูงอายุในเจเนอเรชันก่อนหน้า และมากกว่า 1 ใน 5 ของคนวัย 65-69 ปี ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังคงทำงานอยู่

ดังนั้น เป้าหมายการทำธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกหลังจากนี้ น่าจะโฟกัสไปที่ประชากรกลุ่มสูงวัยมากขึ้น แต่ไม่ใช่สินค้าของผู้สูงวัยแบบเดิมๆ กลับเป็นสินค้าที่ผสมผสานนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และความรู้ความเข้าใจที่ตอบสนองประชากรกลุ่ม Young Old ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ ในตลาดโลก

ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจเท่านั้น บทบาทของ YOLD ยังทำให้ทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุของสังคมเปลี่ยนไป ภาครัฐและเอกชนอาจต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ขยายการเกษียณอายุราชการที่เดิมอยู่ที่ 60-65 ปี เป็นอายุที่มากขึ้น เพราะอิทธิพลความแข็งแรงของ Yold อย่างเช่น Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาถึงสองสมัย ที่ครองตำแหน่งนี้ถึงอายุ 80 ปี ในปัจจุบัน

โลกในยุค New Normal อาจจะทำให้เราเห็นโลก 2 ด้านที่เปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่ อาจจะกลายเป็นพวก OLd Young คือทำตัวแก่ทั้งๆที่ยังเด็ก ไม่สู้งาน เบื่อง่าย มีชีวิตฉาบฉวย ติดเทคโนโลยี แต่ไร้ความยั่งยืน ขณะที่พวก Young Old กลับเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ความแข็งแรงทุกด้าน และสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นฐานของเศรษฐกิจโลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ..

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1886605