Silver Economy เศรษฐกิจสูงวัย

Silver Economy เศรษฐกิจสูงวัย
วันที่ 31 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 4,518 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ระบุว่า หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) ตั้งแต่ปี 2543 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปี 2564 ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20

จากนั้นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (super aged society) ในปี 2578 มีประชากรสูงอายุ ร้อยละ 30 จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศในหลายด้าน ทำให้หลายฝ่ายตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับ

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.พิษณุโลกกับสุโขทัย เมื่อ 25-26 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีมติและสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในภาคเหนือ และให้ผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เพื่อความเป็นเลิศและยกระดับการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy)

แม้โครงการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามลำดับ

สำหรับแนวคิดโครงการเศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ silver economy ต้นกำเนิดมาจากประเทศฮังการี ต่อมาปี 2548 สหภาพยุโรปนำมาปรับใช้ และกำหนดไว้ในปฏิญญาบอนด์ บางครั้งเรียกว่า “เศรษฐกิจสีดอกเลา” สื่อถึงปัญหาท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ จากโครงสร้างประชากรที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย วัยเด็ก วัยแรงงาน และกลุ่มคนสูงอายุ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการภาครัฐให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีแผนจะจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนกลาง สาขาเศรษฐกิจสูงวัย โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก ร่วมดำเนินการกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เป้าหมายเพื่อผลิตและยกระดับขีดความสามารถและคุณภาพของกำลังแรงงานที่อยู่ในวัยแรงงาน ตอบสนองความต้องการและการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงวัยได้อย่างเพียงพอ และเสริมสร้างสมรรถนะให้แรงงานผู้สูงอายุมีความรู้และทักษะในการทำงาน ทดแทนกำลังแรงงานที่อยู่ในวัยแรงงานกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1.กำลังแรงงานที่อยู่ในวัยแรงงาน กลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรม และการบริการในเศรษฐกิจสูงวัย ได้แก่ อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมกายอุปกรณ์ อุตสาหกรรมการออกแบบก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างที่เน้นอารยสถาปัตย์ กิจการรักษาพยาบาลและการแพทย์ กิจการบริการท่องเที่ยว พักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพ กิจการบริบาล เป็นต้น

2.แรงงานผู้สูงอายุ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสมรรถนะ และเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ

ที่มาของการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนกลาง สาขาเศรษฐกิจสูงวัย มาจากรัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 วางเป้าหมายจะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศโดยอาศัยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ โดยพุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยภาคเศรษฐกิจ 5 สาขาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (creative and cultural) เศรษฐกิจเพื่อสังคม (social economy) และเศรษฐกิจสูงวัย (silver econony)

ความคืบหน้าล่าสุด กรมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อศึกษาความต้องการของผู้สูงอายุในบริบทสังคมจังหวัดพิษณุโลก และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมสาขาต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของกำลังแรงงานที่อยู่ในวัยแรงงาน กลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจสูงวัย และแรงงานผู้สูงอายุ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสมรรถนะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจะจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง ขณะเดียวกันก็ปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ

ที่มา : https://www.prachachat.net/columns/news-160231